xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีสงครามอิรัก โพลชี้มะกันพลาดมหันต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ผ่านไป 10 ปี อเมริกันชนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าการบุกอิรักเป็นความผิดพลาดครั้งเลวร้ายขณะที่เหล่าสาวกพรรครีพับลิกันส่วนมากยังเห็นดีเห็นงามกับปฏิบัติการทางทหารอันอื้อฉาวนี้ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและงบประมาณจำนวนมาก แต่จนถึงวันนี้ สถานการณ์และความเป็นอยู่ของชาวอิรักกลับไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าในยุคซัดดัมครองอำนาจมากนัก ซ้ำร้ายรัฐบาลชุดปัจจุบันของแบกแดดที่อเมริกาปั้นมากับมือ ยังอาจเป็นพันธมิตรใกล้ชิดลึกซึ้งกับอิหร่าน ที่เป็นศัตรูตัวกลั่นของแดนอินทรี

แรกเริ่มเดิมทีชาวอเมริกันดูจะสนับสนุนการบุกอิรัก เนื่องจากเชื่อตามสมมติฐานที่ผิดพลาดของคณะบริหารในขณะนั้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชแห่งพรรครีพับลิกันว่า ซัดดัม ฮุสเซนผู้นำอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูงในครอบครอง

แต่นับจากเดือนสิงหาคม 2005 คนอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มไม่เห็นด้วยกับสงคราม กระนั้น ผลสำรวจล่าสุดจากแกลลัปพบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันเชื่อว่า สงครามอิรักเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ลดลงจาก 63เปอร์เซ็นต์ในการสำรวจเดือนเมษายน 2008

นอกจากนี้ เหล่าสาวกรีพับลิกันยังคงปักหลักสนับสนุนการตัดสินใจของบุชอย่างเหนียวแน่น โดยโพลล์ล่าสุดระบุว่า 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่า เป็นผู้สนับสนุนหรือโน้มเอียงที่จะสนับสนุนพรรครีพับลิกัน มีความเห็นว่า สหรัฐฯไม่ได้ทำพลาดที่ส่งทหารไปรบในอิรัก ขณะที่ 30 เปอร์เซ็นต์ มีความเห็นตรงกันข้าม

ในทางกลับกัน 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้สนับสนุนหรือโน้มเอียงที่จะสนับสนุนพรรคเดโมแครตมองว่า ปฏิบัติการทางทหารต่ออิรักเป็นความผิดพลาด และ 22 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องผิดพลาด

สงครามบุกอิรักเพื่อโค่นอำนาจซัดดัม ฮุสเซนเริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2003 และยืดเยื้อเกินคาดนานถึง 106 เดือน โดยในระหว่างช่วงเวลานั้น มีจำนวนทหารอเมริกันถูกส่งไปประจำการในอิรักสูงถึง 2,337,197 นาย และในจำนวนนี้มีทหารบางคนถูกส่งไปอิรัก 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารในแผ่นดินอิรัก ส่งผลทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตอย่างน้อย 4,488 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหารหญิง 110 คน และทหารอีก 32,210 นายได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งมีตั้งแต่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนถึงการสูญเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ ขณะที่กำลังพลอีก 235 นายฆ่าตัวตายจากอาการเครียดขณะอยู่ในสมรภูมิอิรัก

ด้านข้อมูลจากสถาบันบรูคกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า ชาวอิรักต้องเสียชีวิต 115,376 คน ระหว่างปี 2003-2011 ที่มีการปะทะดุเดือดของกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ขณะที่พลเรือนอิรักต้องอพยพออกจากถิ่นฐานเพิ่มขึ้นจาก 400,000 คนในปี 2003 เป็นกว่า 2.7 ล้านคนในปี 2010

ย้อนกลับไปตอนที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุชประกาศบุกอิรักเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้น เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลอเมริกันอยู่ที่การโค่นล้มผู้นำเผด็จการซัดดัมและทำลายอาวุธร้ายแรงตลอดจนสร้างรากฐานประชาธิปไตยตามแผนการ “ปฏิวัติประชาธิปไตยทั่วโลก” ของบุช ภายใต้สมมติฐานว่า จะใช้ทหารและเวลาไม่มากนัก แต่เอาเข้าจริง สหรัฐฯ กลับต้องสูญเงินไปกับสงครามอิรักอย่างน้อย 800,000 ล้านดอลลาร์ และชีวิตทหารหาญอีกหลายพันคน กับช่วงเวลาเฉียด 9 ปีที่ต้องใช้ความทรหดอดทนอย่างมาก

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ตรวจการพิเศษด้านการฟื้นฟูอิรักออกมาเปิดเผยรายงานฉบับสุดท้ายว่า เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ มูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ “สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง” นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ฟื้นฟูอิรักโดยรวม ซึ่งจนถึงขณะนี้แทบไม่เห็นผลเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด

ด้านประชาชนอิรักต้องรับเคราะห์หนักมากกว่า เพราะนอกจากการสูญเสียชีวิตทรัพย์สินที่กล่าวไปแล้ว สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษยังทิ้งไว้ซึ่งความยากแค้น และวงจรอุบาทว์จากการแบ่งแยกตามลัทธิความเชื่อทางศาสนา ที่เลวร้ายยิ่งกว่ายุคสมัยใดในประวัติศาสตร์ของชาติ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกิ ที่สหรัฐฯหนุนหลัง กลายเป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมแทรกแซงการทำงานในส่วนต่างๆ ของรัฐบาล อีกทั้งสั่งการให้จับกุมรองประธานาธิบดีที่นับถือนิกายสุหนี่ในข้อหาก่อการ ร้าย จนถูกมองไม่ต่างจาก “เผด็จการ” ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่อเมริกาใช้เป็นข้ออ้างบุกย่ำยีอิรักในยุคของซัดดัม ฮุสเซน ซ้ำร้ายสหรัฐฯยังต้อง “ชอกช้ำระกำใจ” กับข้อเท็จจริงที่ยากจะยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ของอิรักที่สหรัฐฯแต่งตั้งมากับมือ ยังอาจมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “อิหร่าน” ศัตรูตัวฉกาจของตนเองอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น