เอเอฟพี - สหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธ (arms embargo) ไปช่วยเหลือกบฎซีเรีย วานนี้(27) หลังผ่านการเจรจานานนับสิบชั่วโมงซึ่งสะท้อนถึงความเห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่สนับสนุนการส่งอาวุธช่วยกบฎ กับประเทศสมาชิกอื่นๆที่ยังลังเลกับการตัดสินใจครั้งนี้
อย่างไรก็ดี สมาชิกอียูทั้ง 27 ชาติยังไม่มีแผนที่จะส่งอาวุธเข้าไปช่วยกบฎซีเรียในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ด้วยเกรงจะกระทบต่อแผนเจรจาสันติภาพที่สหรัฐฯและรัสเซียเป็นตัวตั้งตัวตี
หลังการเจรจานาน 12 ชั่วโมงสิ้นสุดลง วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้ประกาศข้อตกลงยกเลิกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธไปยังซีเรีย แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นเวลา 2 ปี
หากปราศจากข้อตกลงดังกล่าว แผนคว่ำบาตรทั้งชุดซึ่งประกอบด้วยคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ อัสซาด และพวกพ้อง ตลอดจนข้อจำกัดด้านการค้าน้ำมันและธุรกรรมทางการเงิน จะสิ้นอายุลงในเที่ยงคืนของวันศุกร์นี้(31)
อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการติดอาวุธให้กบฎซีเรียยังคงเรียกร้องให้อียูมีมาตรการป้องกัน ซึ่งคำนึงถึงศีลธรรมและการเมืองด้วย
“การประนีประนอมกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส ยังคงเป็นไปไม่ได้” ไมเคิล สปินเดเลกเกอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรีย ซึ่งคัดค้านการส่งอาวุธช่วยกบฎ กล่าว
ออสเตรีย, สวีเดน, ฟินแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ยังคงสงวนท่าที เมื่อเอ่ยถึงการจัดส่งอาวุธเข้าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามซีเรียที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี และคร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 94,000 คน
สปินเดเลกเกอร์ ชี้ว่า การส่งอาวุธให้กบฎซีเรียจะขัดต่อหลักการของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็น “ชุมชนแห่งสันติภาพ”
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสในกรุงปารีส ระบุว่า “นี่เป็นเพียงการเปิดทางส่งอาวุธในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจะไม่มีการส่งอาวุธให้กบฎก่อนวันที่ 1 สิงหาคมอย่างแน่นอน”
การประวิงเวลาดังกล่าวก็เพื่อเปิดทางให้แก่การประชุมสันติภาพนานาชาติว่าด้วยกรณีซีเรีย ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวาในเดือนมิถุนายนนี้ โดยสหรัฐฯและรัสเซียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่หวังว่า รัฐบาลอัสซาดและฝ่ายกบฎคงจะส่งผู้แทนมาร่วมเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายความขัดแย้ง
ข้อตกลงผ่อนคลายการปิดล้อมด้านอาวุธที่กรุงบรัสเซลส์วานนี้(27) เปิดโอกาสให้สมาชิกอียูแต่ละประเทศตัดสินใจเองว่าจะส่งอาวุธไปช่วยเหลือกบฎซีเรียหรือไม่ ทว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของทุกชาติยังให้คำมั่นว่า จะคำนึงถึงมาตรการป้องกันมิให้อาวุธถูกใช้ไปในทางไม่เหมาะสม และจะเคารพกฎเกณฑ์ว่าด้วยการส่งออกอาวุธของอียู