xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ขู่บอยคอต “ที่ประชุมลดอาวุธ” หากมี “อิหร่าน” เป็นประธาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯชี้ “ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ที่จะให้อิหร่านรับหน้าที่ประธานในการประชุมลดอาวุธของสหประชาชาติ (U.N. Conference on Disarmament) ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวาในเดือนนี้ และจะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมใดๆก็ตามที่มีเตหะรานเป็นผู้นำ วอชิงตันแถลงวานนี้ (13)

นับเป็นเวลา 15 ปีมาแล้วที่เวทีเจรจาพหุภาคีว่าด้วยการลดอาวุธเพียงหนึ่งเดียวของโลกต้องเผชิญอุปสรรคเรื้อรังจากความขัดแย้งของประเทศสมาชิก และแม้ตำแหน่งประธานซึ่งสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละครั้ง จะเป็นเพียงตำแหน่งเชิงพิธีการ แต่ก็ถือเป็นตำแหน่งระดับสูงในองค์การสหประชาชาติ

“หน้าที่ประธานการประชุมซึ่งเวียนมาถึงอิหร่านในครั้งนี้ ถือเป็นความโชคร้าย และไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” เอริน เพลตัน โฆษกคณะผู้แทนสหรัฐฯประจำยูเอ็น ระบุในถ้อยแถลง

“สหรัฐฯ ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศที่อยู่ในบัญชีคว่ำบาตรตามบทบัญญัติที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งว่าด้วยการสะสมอาวุธหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง สมควรถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือตำแหน่งเชิงพิธีการใดๆ ในองค์กรของยูเอ็น”

อิหร่านมีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของยูเอ็น, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เนื่องจากปฏิเสธที่จะยุติโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม โดยเตหะรานอ้างเสมอว่า กิจกรรมนิวเคลียร์มีจุดประสงค์เชิงสันติเท่านั้น ทว่าประเทศตะวันตกและชาติพันธมิตรยังปักใจเชื่อว่า อิหร่านมุ่งที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สหรัฐฯ และยุโรปยังกล่าวหาว่าอิหร่านละเมิดคำสั่งยูเอ็นที่ห้ามการส่งออกอาวุธแก่รัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ซึ่งกำลังต้องการอาวุธหนักเพื่อกวาดล้างกลุ่มกบฎที่หมายโค่นล้มระบอบของเขาในสงครามกลางเมืองซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 2 ปี

“การอนุมัติให้อิหร่านดำรงตำแหน่งประธานการประชุม ย่อมขัดต่อวัตถุประสงค์ของการประชุมลดอาวุธเอง... ดังนั้น สหรัฐฯ จะไม่ส่งผู้แทนระดับทูตเข้าร่วมการประชุมใดๆ ก็ตามที่อิหร่านเป็นประธาน” เพลตัน ระบุ

คณะผู้แทนอิหร่านประจำยูเอ็นยังไม่มีถ้อยแถลงตอบโต้คำคัดค้านของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการที่อิหร่านจะทำหน้าที่ประธานการประชุมซึ่งจะกินเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

ที่ประชุมลดอาวุธซึ่งประกอบด้วยภาคี 65 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1978 เพื่อเป็นเวทีเจรจาอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผลงานเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 1998 เนื่องจากชาติสมาชิกยังมีความเห็นขัดแย้งในเรื่องลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น