xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญเตือน ประชากรโลกจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนักใน 50 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญวอนรัฐบาลของนานาประเทศทั่วโลกเร่งหาทางปกป้องแหล่งน้ำจากภัยคุกคามของสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงมลภาวะ และการใช้ทรัพยากรน้ำเกินความจำเป็น ชี้ประชากรโลกจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนักใน 50 ปี

ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ โวโรสมาร์ตี ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำแห่งสำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่จากจำนวนประชากรโลก 9,000 ล้านคนจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเลวร้ายภายในช่วงเวลาประมาณ 2 ชั่วอายุคน หรือ 50 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเกินความพอดี

ศาสตราจารย์โวโรสมาร์ตีระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องเริ่มอนุรักษ์แหล่งน้ำภายในประเทศของตนอย่างจริงจัง และบังคับใช้มาตรการเพื่อการใช้น้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วน้ำจืดมิใช่ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เสมอไป

ข้อมูลจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจาก NOAA ยังพบว่า ประชากรราว 4,500 ล้านคนทั่วโลกในเวลานี้อาศัยอยู่ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากแหล่งน้ำซึ่งกำลังหดตัวหรือแห้งเหือด และหากสถานการณ์ยังดำเนินในทิศทางเช่นนี้อยู่ต่อไป ผู้คนจำนวนมหาศาลจะไม่สามารถหาน้ำดื่มน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง คลื่นความร้อนบ่อยและถี่ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ นอกจากนั้น การเร่งขุดเอาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และการใช้น้ำอย่างเกินควบคุมเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการชลประทานยังกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนภายในระยะเวลาประมาณ 50 ปี หรือ 2 ชั่วอายุคนนับจากนี้

ด้านยาโนส โบการ์ดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงมนุษย์แห่งองค์การสหประชาชาติ เตือนว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาขาดแคลนน้ำ คือ ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศยากจนทั้งหลาย โดยในปัจจุบันประชากรราว 780 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด ขณะที่ราวครึ่งหนึ่งของประชากรในกลุ่มประเทศโลกที่สามต้องล้มป่วยจากโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำอย่างน้อย 1 โรค

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากสหประชาชาติชี้ว่า ในโลกของเรามีแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 2.5–2.75 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำทั่วโลก รวมถึงราว 1.75–2 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นน้ำจืดที่ถูกแช่แข็งอยู่ตามธารน้ำแข็ง และหิมะ อย่างไรก็ดี ในจำนวนดังกล่าวมีน้ำจืดเพียง 0.003 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากแหล่งน้ำจืดทั่วโลกที่ยังไม่ถูกปนเปื้อนจากมลภาวะ
แผนที่แสดงที่ตั้งของแม่น้ำทั่วโลกซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น