เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ทั่วโลกอาจต้องเผชิญหายนะครั้งใหญ่ หลังมีความเป็นไปได้ว่าระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้น 27 นิ้วหรือ 68.58 เซนติเมตรเมื่อถึงปี 2100 จากผลของธารน้ำแข็งที่ละลายจากทวีปแอนตาร์กติกา เกาะกรีนแลนด์ เทือกเขาแอนดิส รวมถึงเทือกเขาหิมาลัย
รายงานข่าวซึ่งอ้างผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิจัยอิสระในโครงการ “ไอซ์ทูซี โปรเจคต์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 24 สถาบันวิจัยในยุโรปและชิลี ยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ที่ระดับน้ำทะเลในโลกของเราอาจสูงขึ้นถึง 27 นิ้วหรือ68.58เซนติเมตรเมื่อก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.2100 หรือในอีก 87 ปีข้างหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าการคาดการณ์ของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติที่ระบุเมื่อปี 2007 ว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกอาจสูงขึ้นราว 59 เซนติเมตรเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของทั่วโลกเมื่อสิ้นศตวรรษที่ผ่านมาได้เพิ่มสูงขึ้นราว 17 เซนติเมตร
ศาสตราจารย์เดวิด วอห์น แห่งสำนักงานสำรวจแอนตาร์กติกแห่งสหราชอาณาจักร ในฐานะผู้ประสานงานของโครงการวิจัย “ไอซ์ทูซี” ออกมาเปิดเผยที่กรุงลอนดอนโดยยืนยันภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกคือปัจจัยหลักที่นำไปสู่การละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคต
ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิจัยจากโครงการดังกล่าวยังพบว่า ใน 50 ปีข้างหน้า ชายฝั่งของทวีปยุโรปจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากคลื่นซัดชายฝั่งหรือ “สตอร์ม เสิร์จ” เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร
ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า หากน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้ละลายลงทั้งหมดจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงราว “57 เมตร” และถ้าน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์ ใกล้ขั้วโลกเหนือละลายลงทั้งหมดจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกราว 7 เมตร แม้การละลายของน้ำแข็งทั้งหมดทั้งที่ขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายพันปีก็ตาม