เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นักวิจัยออกโรงเตือน ธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดของโลกกำลังละลาย โดยพบการหดตัวถึง 13 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 50 ปีหรือครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่แนวของหิมะเอเวอเรสต์ได้เคลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิมเป็นระยะทางกว่า 590 ฟุต
รายงานซึ่งอ้างข้อมูลจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิลานในอิตาลี ระบุว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ความสูง 29,029 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและเนปาล รวมถึง พื้นที่หลายส่วนของเทือกเขาหิมาลัย
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิลานซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติซาการ์มาธาทางภาคตะวันออกของเนปาล เผยว่าพบการหดตัวของน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขาเอเวอเรสต์ราว 13 เปอร์เซ็นต์ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นระยะทางเฉลี่ยราว 1,300 ฟุต นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 เป็นต้นมา โดยสาเหตุหลักคาดว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การละลายของธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ และพื้นที่หลายส่วนแถบเทือกเขาหิมาลัย กำลังเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าธารน้ำแข็งแถบเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญ หล่อเลี้ยงประชากรในภูมิภาคที่มีจำนวนกว่า 1,500 ล้านคนทั้งในอินเดีย เนปาล ภูฏาน และปากีสถาน รวมถึงบางส่วนของจีน