xs
xsm
sm
md
lg

‘สตีเฟน ฮอว์คิง’ร่วมคว่ำบาตรไม่ไปประชุมที่อิสราเอล (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: แรมซี บารูด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hawking and a brief history of boycotts
By Ramzy Baroud
14/05/2013

การที่ สตีเฟน ฮอว์กิง ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลก ตัดสินใจที่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการซึ่งอิสราเอลจัดขึ้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ในตอนแรกทีเดียวพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลพยายามที่จะกลบเกลื่อนแสร้งทำเป็นเฉยเมยว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญใหญ่โตอะไร แต่จากสัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏออกมากลับชี้ให้เห็นว่า การแสดงการประท้วงคัดค้านของนักวิชาการที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงเช่นนี้ กำลังกลายเป็นการฉีกทำลายภาพลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล ซึ่งทางการเทลอาวีฟอุตสาหะลงแรงสร้างขึ้นมาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ทั้งนี้ ในขณะที่ เทลอาวีฟออกมาร้องโวยวายกล่าวหาว่ามีความพยายามที่จะทำให้อิสราเอล “กลายเป็นรัฐนอกกฎหมายที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม” อยู่นั้น ประเทศนี้ก็คาดคั้นมุ่งหวังด้วยว่าโลกจะต้องไม่หันมาตั้งคำถามเอากับการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ถึงแม้มันจะเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

มันเป็นเหตุการณ์ “ที่มีความสำคัญระดับจักรวาลทีเดียว” นักวิชาการชาวปาเลสไตน์ผู้หนึ่งบอก ซึ่งก็เป็นคำพูดอันเหมาะสมที่จะใช้บรรยายถึงกรณีที่ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ตัดสินใจที่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการของอิสราเอลซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ นอกจากนั้นมันยังเป็นเสียงเรียกร้องทางศีลธรรมอันเด็ดเดี่ยวที่มีการสื่อสารออกไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งฮอว์คิงเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่อย่างยาวนานหลายสิบปี (ก่อนจะก้าวลงจากตำแหน่งนี้ในปี 2009)

ฮอว์คิง เป็นนักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์ทฤษฎี ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ต้องมีการนิยามพื้นที่ปริมณฑลแห่งการศึกษาวิจัยกันใหม่ หรืออย่างน้อยก็เป็นการเขย่าท้าทายพื้นที่ปริมณฑลดังกล่าวโดยองค์รวม ไม่ว่าจะเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพ ไปจนถึงทฤษฎีควอนตัม และอื่นๆ ภาพซึ่งเป็นรู้จักคุ้นเคยของบุคคลผู้มีคุณวุฒิสูงเด่นยอดเยี่ยมผู้นี้ก็คือภาพที่เขานั่งอยู่บนรถเข็น สืบเนื่องจากเขาอยู่ในสภาพที่พิการอย่างสิ้นเชิงในทางกายภาพ โดยมีสาเหตุจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส (amyotrophic lateral sclerosis) อย่างไรก็ตาม สำหรับฮอว์คิงแล้ว ข้อเท็จจริงอันน่าเจ็บปวดดังกล่าวนี้ดูเหมือนกับเป็นเพียงแค่หมายเหตุที่เขียนอยู่ข้างๆ หน้ากระดาษซึ่งหนาปึกไปด้วยคุณูปการอันเหลือเชื่อที่เขามีต่อวิทยาศาสตร์ มันเป็นผลงานชนิดที่ในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีเพียงความสำเร็จชายหญิงไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งอาจนำมาเทียบเคียงได้

การประชุมทางวิทยาศาสตร์ในอิสราเอลที่ถือกันว่ามีเกียรติสูงส่งแต่ถูกฮอว์คิงคว่ำบาตรในคราวนี้ ผู้เป็นเจ้าภาพคือประธานาธิบดีชิมอน เปเรซ (Shimon Peres) ซึ่งสำหรับชาวเลบานอนและชาวปาเลสไตน์แล้ว ต่างจดจำเขาได้เป็นอย่างดีไม่มีลืมเลือนสืบเนื่องจากการที่เขาเป็นผู้ออกคำสั่งให้ระดมยิงถล่มใส่กลุ่มอาคารของสหประชาชาติ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านกอนา (Qana) ทางภาคใต้ของเลบานอนเมื่อปี 1996

กลุ่มอาคารดังกล่าวคือสถานที่หลบภัย ซึ่งพวกพลเรือนมักอาศัยเป็นที่พักพิงในระหว่างที่อิสราเอลทำการโจมตี อย่างไรก็ดี มันไม่ได้เป็นสถานที่หลบภัยเลยในช่วงเวลาที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ผลก็คือมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ 106 คน ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นเด็กและผู้หญิงถูกฆ่าตาย และอีก 116 คนได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้มีทั้งพวกสมาชิกในกองกำลังทหารสหประชาชาติด้วย เหตุการณ์สุดแสนสยดสยองดังกล่าวนี้ แม้เพียงเหตุการณ์เดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว ที่จะส่งตัวเปเรซ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลอยู่ในเวลานั้น ไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาในเรือนจำ ถ้าหากมีการไต่สวนดำเนินคดีอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย

แต่แน่นอนทีเดียวว่า อิสราเอลนั้นอยู่เหนือกฎหมาย หรืออย่างน้อยที่สุดรัฐบาลอิสราเอลก็เชื่อเช่นนั้น และด้วยเหตุฉะนี้ ประเทศนี้จึงยังคงมีพฤติกรรมทำนองนี้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 65 ปีที่ผ่านมา ด้วยป้ายบอกประวัติผลงานทั้งจำนวนชีวิตผู้คนที่ต้องสูญเสียไปนับไม่ถ้วน ทั้งการทำลายล้างที่เกินกว่าจะสาธยาย และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างยืดเยื้อของทั่วทั้งประเทศชาติในหลายๆ ประเทศ

การที่ฮอว์คิงตอบรับเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการประท้วงคว่ำบาตร นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากยกเว้นไว้ก่อนยังไม่พูดถึงฐานะความเป็นบุคคลระดับตำนานของเขา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นหลักฐานอันหนักแน่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความพยายามดำเนินการประท้วงคว่ำบาตรอิสราเอลที่นำโดย ขบวนการ “บอยคอตต์, ไดเวสต์เมนต์ แอนด์ แซงค์ชั่นส์” (Boycott, Divestment and Sanctions ใช้อักษรย่อว่า BDS) [1] นั้น มีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จมากมายกว่าที่พวกกล่าวร้ายต่อขบวนการนี้ (ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่ที่สุดก็คือพวกที่คอยแก้ต่างให้แก่อิสราเอล) ต้องการที่จะเชื่อ

การตัดสินใจของฮอว์คิงยังเป็นข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งด้วยว่า เหตุผลและศีลธรรมควรและต้องสอดคล้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน การคุยโม้โอ้อวดของอิสราเอลเกี่ยวกับความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ของตนเองนั้นควรที่จะมีความหมายเท่ากับศูนย์เท่านั้นเอง ถ้าหากเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อความก้าวหน้าในการใช้ความรุนแรงของรัฐ, เพื่อทำให้การยึดครองทางทหารดำเนินไปอย่างแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น, และเพื่อใช้ผลิตฆาตกรในรูปลักษณ์ของอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ซึ่งสามารถจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ประเทศอื่นๆ และดังนั้นจึงเป็นการส่งออกซึ่งความรุนแรงและการประทุษร้าย

สิ่งที่เรียกกันว่า “วิทยาศาสตร์” อย่างเดียวกันนี้แหละ ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างมากมายเต็มเหยียดในสงครามล่าสุดทั้ง 2 ครั้งที่อิสราเอลกระทำในดินแดนฉนวนกาซา (สงครามปี 2008-09 และสงครามปี 2012) ซึ่งได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นพันเป็นหมื่นคน

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งคงจะเนื่องจากมีความกังวลถึงปฏิกิริยาในทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงได้พยายามที่จะปกปิดการตัดสินใจในครั้งนี้ของฮอว์คิง โดยออกมาแถลงถึงเหตุผลที่เขางดเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการที่อิสราเอลว่าเป็นเพราะปัญหาทางด้านสุขภาพ ซึ่งแน่นอนเลยว่ามันไม่ใช่เช่นนั้นสักหน่อย ในที่สุดแล้วทางมหาวิทยาลัยก็ต้องถอยยอมถอนคำแถลงในตอนแรก ในเมื่อท่านนักวิทยาศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักรผู้นี้ยืนยันต้องการที่จะประกาศการตัดสินใจของเขาอย่างชัดเจนใสแจ๋ว หนังสือพิมพ์การ์เดียน (Guardian) ของสหราชอาณาจักร ได้รายงานข่าวการที่ฮอว์คิงคว่ำบาตรการประชุมในอิสราเอล โดยที่ได้อ้างถ้อยแถลงของ คณะกรรมการแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อมหาวิทยาลัยของปาเลสไตน์ (British Committee for the Universities of Palestine) ทั้งนี้คำแถลงดังกล่าวบังเกิดขึ้นมาภายหลังที่ได้มีการติดต่อประสานงานกับทางสำนักงานของฮอว์คิง และได้รับความเห็นชอบจากท่านศาสตราจารย์ผู้นี้แล้ว [2]

คำแถลงของ คณะกรรมการแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อมหาวิทยาลัยของปาเลสไตน์ ระบุว่า “พวกเรามีความเข้าใจว่าศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง ได้ปฏิเสธคำเชื้อเชิญให้เขาเดินทางไปเข้าร่วม ‘การประชุมของประธานาธิบดีอิสราเอลว่าด้วยการเผชิญหน้ากับวันพรุ่งนี้ ประจำปี 2013’ (the Israeli Presidential Conference Facing Tomorrow 2013) ที่มีกำหนดจัดขึ้นในนครเยรูซาเลมระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน นี่เป็นการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของเขาที่จะเคารพและเข้าร่วมกระทำการคว่ำบาตร โดยอิงอยู่กับความรู้ของเขาในเรื่องเกี่ยวกับปาเลสไตน์ และอิงอยู่กับคำแนะนำอย่างเป็นเอกฉันท์ของบุคคลในแวดวงวิชาการในดินแดนดังกล่าวที่ตัวเขาเองติดต่อด้วย”

ไม่เหมือนกับการประกาศคว่ำบาตรคราวอื่นๆ ซึ่งบางครั้งพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลใช้ท่าทีเพิกเฉยไม่แยแสโดยเห็นว่าไม่มีคุณค่าความสำคัญอะไร แต่สำหรับในครั้งนี้แล้วมันทำให้อิสราเอลอยู่ในอาการช็อกอย่างแท้จริง หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ ยิกัล ปัลเมอร์ (Yigal Palmor) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ซึ่งกล่าวว่า “ไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงสูงส่งถึงขนาดนี้เลยที่ประกาศคว่ำบาตรอิสราเอล”

และเนื่องจากมันเป็นสิ่งที่นอกเหนือความคาดหมาย การที่ฮอว์คิงเข้าร่วมการคว่ำบาตรคราวนี้จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างสะเปะสะปะไม่เป็นขบวนจากอิสราเอลและพวกที่อยู่ข้างอิสราเอล โดยมีตั้งแต่ความพยายามที่จะลดคุณค่าด้วยการล้อเลียนให้เป็นเรื่องตลก และการแสดงความเหยียดหยามด้วยการพาดพิงถึงความป่วยไข้ของเขา, การกล่าวหาให้ร้ายอย่างชนิดไม่มีเหตุผลรองรับ, และกระทั่งการบอกว่าเขาควรละอายใจที่กำลังใช้เทคโนโลยีซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าพัฒนาขึ้นในอิสราเอล เพื่อต่อสู้กับอาการโรคเอแอลเอสของเขาที่กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ

ในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยที่อิสราเอลจะต้อง “เสียมวย” เหมือนกับในปัจจุบันนี้ เมื่อภาพลักษณ์ที่ประเทศนี้ได้สู้อุตสาหะลงแรงสร้างขึ้นมาอย่างระมัดระวัง เพื่อเคลือบคลุมบดบังการใช้กำลังทหารเข้ายึดครองปาเลสไตน์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในปาเลสไตน์ กลับถูกฉีกทำลายไปจนแทบจะเปลือยเปล่า ขณะที่ในด้านหนึ่งพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลพูดถึง “สันติภาพ” อย่างสนุกสนาน อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ยังคงออกหนังสืออนุญาตให้มีการประมูลเพื่อสร้างนิคมของชาวยิวแห่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา หรือขยับขยายนิคมแห่งเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วให้กว้างขวางออกไป ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่สร้างกันขึ้นมาอย่างผิดกฎหมายบนที่ดินของชาวปาเลสไตน์

ในวันเดียวกับที่มีการประกาศการตัดสินใจของฮอว์คิงที่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมในอิสราเอลนั้นเอง “สำนักงานบริหารงานโยธา” (civil administration) ในอิสราเอลก็ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยใหม่ๆ 296 หน่วยในเขตนิคมเบต เอล (Beit El) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงกลายเป็นการกระชับการยึดครองด้วยกำลังทหารและการเพิ่มทวีการล้างเผ่าพันธุ์

พวกเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนของอิสราเอลยังคงพยายามยืนกรานว่า ระหว่างพฤติกรรมการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ กับขบวนการคว่ำบาตรที่กำลังแผ่ขยายตัวออกไปนั้น ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเลย พวกเขายังคงกล่าวหาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยว่าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขานั้นเป็น “พวกต่อต้านยิว” (anti-Semitism) ถึงแม้มันจะไม่ค่อยได้ผลอะไรอีกต่อไปแล้ว นอกจากนั้นพวกเขายังพยายายามที่จะวาดภาพให้เห็นไปว่ามีความพยายามที่จะ “ทำให้อิสราเอลกลายเป็นรัฐนอกกฎหมายที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม” ("de-legitimatization" of Israel) ราวกับว่าพวกเขายังคงคาดหมายให้โลกหลงลืมอย่างสิ้นเชิงต่อพฤติการณ์อันพวกเขากระทำอยู่เป็นประจำ ทั้งในเรื่องที่เป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม, การยึดครองอย่างผิดกฎหมาย, และการแบ่งแยกอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้ประชากรที่มิใช่ชาวยิวทั้งของปาเลสไตน์และอิสราเอลต้องกลายเป็นพวกด้อยสิทธิ์

แรมซี บารูด (www.ramzybaroud.net) เป็นบรรณาธิการของเว็บไซต์ PalestineChronicle.com หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง My Father Was A Freedom Fighter: Gaza's Untold Story จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส (Pluto Press)

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น