xs
xsm
sm
md
lg

‘สตีเฟน ฮอว์คิง’ร่วมคว่ำบาตรไม่ไปประชุมที่อิสราเอล (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: แรมซี บารูด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hawking and a brief history of boycotts
By Ramzy Baroud
14/05/2013

การที่ สตีเฟน ฮอว์กิง ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลก ตัดสินใจที่จะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการซึ่งอิสราเอลจัดขึ้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ในตอนแรกทีเดียวพวกเจ้าหน้าที่อิสราเอลพยายามที่จะกลบเกลื่อนแสร้งทำเป็นเฉยเมยว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญใหญ่โตอะไร แต่จากสัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏออกมากลับชี้ให้เห็นว่า การแสดงการประท้วงคัดค้านของนักวิชาการที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงเช่นนี้ กำลังกลายเป็นการฉีกทำลายภาพลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล ซึ่งทางการเทลอาวีฟอุตสาหะลงแรงสร้างขึ้นมาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ทั้งนี้ ในขณะที่ เทลอาวีฟออกมาร้องโวยวายกล่าวหาว่ามีความพยายามที่จะทำให้อิสราเอล “กลายเป็นรัฐนอกกฎหมายที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม” อยู่นั้น ประเทศนี้ก็คาดคั้นมุ่งหวังด้วยว่าโลกจะต้องไม่หันมาตั้งคำถามเอากับการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ถึงแม้มันจะเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

วิธีการในการใช้เหตุผลข้อโต้แย้งของสตีเฟน ฮอว์คิงในการตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ไปประชุมทางวิชาการที่อิสราเอลในคราวนี้ ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน มันเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาคประชาสังคมยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถที่จะแสดงให้เห็นว่า การประชุมอย่างเป็นทางการมิได้เป็นแค่เพียงเวทีเดียวเท่านั้นที่สามารถอภิปรายถกเถียงกันและแสดงการตอบโต้อย่างเป็นธรรม ในเรื่องที่อิสราเอลเข้ายึดครองปาเลสไตน์ วันเวลาได้ผ่านพ้นไปร่วมๆ 20 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่มีการลงนามในข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) แต่กระนั้นการยึดครองของอิสราเอลกลับดูเหมือนยิ่งหยั่งรากลึกหนักแน่นกว่าเมื่อตอนปี 1993 ด้วยซ้ำ

แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ขบวนการคว่ำบาตรนี้กำลังเติบใหญ่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และสาเหตุของการเติบโตนี้ก็ไม่ใช่เพียงเพราะมีข่าวออกมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีศิลปินหรือนักวิชาการดังๆ คนนั้นคนนี้ปฏิเสธไม่ยอมเดินทางไปเยือนอิสราเอล หรือไปเข้าร่วมรายการต่างๆ ที่มีอิสราเอลเป็นสปอนเซอร์ สิ่งที่มีความสำคัญมากพอๆ กันก็คือการที่มีภาคประชาสังคมคอยให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่เหล่าศิลปิน, นักวิชาการ, และบุคคลอื่นๆ จะยึดมั่นกระทำตามเสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตร โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้แก้เผ็ดอย่างร้ายแรง

เป็นที่เปิดเผยกันว่าในจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงฮอว์คิง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะชักชวนเขาให้ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประชุมในอิสราเอลนั้น ลงนามโดยนักวิชาการระดับท็อปจำนวน 20 คนจากมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่ง เป็นต้นว่า เอ็มไอที, เคมบริดจ์, ลอนดอน, ลีดส์, เซาแธมป์ตัน, วอริก, และนิวคาสเซิล ท่านศาสตราจารย์เหล่านี้บอกกับฮอว์คิงว่า พวกเขา “รู้สึกประหลาดใจและรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” ที่เขาได้ตกลงใจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมการประชุมยังมีอดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษ และอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ของสหรัฐฯ บุคคลเหล่านี้แต่ละคนล้วนมีประวัติถูกตั้งข้อกล่าวหาประกอบอาชญากรรมสงครามของพวกเขาเอง ไล่เรียงตั้งแต่ในซูดาน ไปจนถึงอัฟกานิสถาน และไปจนถึงอิรัก

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านการตัดสินใจของฮอว์คิงในคราวนี้ ไม่ได้มีเพียงที่มาจากอิสราเอล และแวดวงของผู้สนับสนุนอิสราเอลตัวยงเท่านั้น ยังมีที่มาจากบุคคลบางส่วนในหมู่ผู้ที่ขนานนามพวกเขากันเองว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์อีกด้วย กลุ่มนี้ที่นับวันมีจำนวนลดน้อยลงและดูเหินห่างออกไปเรื่อยๆ นี้ เสนอเหตุผลข้อโต้แย้งว่า การคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมในทุกๆ ด้านทุกๆ ส่วนของชีวิตทางวิชาการ, วัฒนธรรม, และการเมืองของอิสราเอลนั้น จะกลายเป็นการเสียท่าถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างยืนยันข้อกล่าวหาของอิสราเอลในประเด็น “ต่อต้านยิว” และ “ทำให้อิสราเอลกลายเป็นรัฐนอกกฎหมายที่ไร้ความถูกต้องชอบธรรม”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของขบวนการสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์ ที่ให้จำกัดการคว่ำบาตรเอาไว้เพียงแค่ต่อต้านบริษัทอิสราเอลไม่กี่แห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิคมชาวเขตในเขตเวสต์แบงก์ จะสามารถบรรลุผลสำเร็จที่จับต้องได้ในระยะยาวตามที่ขบวนการนี้บอกเอาไว้หรือ? พวกที่คิดว่าการคว่ำบาตรการยึดครองดินแดนปาลสไตน์ของอิสราเอลเท่านั้นก็เป็นการเพียงพอแล้ว ดูเหมือนจะไม่เข้าใจขอบเขตลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวที่ไปตั้งถิ่นฐานตั้งนิคมในเขตเวสต์แบงก์ กับรัฐบาลอิสราเอลเอาเสียเลย

อิสราเอลนั้นปฏิบัติต่อนิคมชาวยิวแห่งต่างๆ ตลอดจนประชากรในนิคมเหล่านี้ซึ่งต่างก็ติดอาวุธชั้นดีพรักพร้อม ว่าเป็นส่วนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของรัฐอิสราเอลและของเศรษฐกิจอิสราเอล พวกเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีถิ่นพำนักอาศัยในอิสราเอล ถึงแม้ในทางเป็นจริงพวกเขากำลังอาศัยอยู่ใกล้ๆ เมืองรามัลเลาะห์ (Ramallah เมืองเอกของเขตเวสต์แบงก์) ก็ตามที มันไม่ได้มีเส้นขีดแบ่งใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นแต่เส้นสมมุติในจินตนาการเท่านั้น

สำหรับชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในเมืองกาซา (Gaza บางทีก็เรียกว่า กาซา ซิตี้ เป็นเมืองสำคัญในเขตฉนวนกาซา) หรือเมืองนาบลุส (Nablus เมืองใหญ่ในเขตเวสต์แบงก์) พวกเขาก็ไม่เห็นความแตกต่างใดๆ ระหว่างทหารคนหนึ่งที่พำนักอาศัยอยู่ในนิคมชาวยิวผิดกฎหมาย หรือทหารอีกคนหนึ่งที่พำนักอาศัยอยู่ภายในประเทศอิสราเอล ทหารเหล่านี้ล้วนแต่มีศักยภาพที่จะทำการเข่นฆ่า และแน่นอนทีเดียวว่าจำนวนมากได้กระทำการเข่นฆ่ามาแล้วด้วย โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภูมิศาสตร์หรือเส้นเขตแดน ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศไม่ควรที่จะตกลงไปในกับดักของเส้นแบ่งที่เป็นเพียงภาพมายาเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจของฮอว์คิงที่จะคว่ำบาตรการประชุมในอิสราเอล มีความสำคัญใน “ระดับจักรวาล” มันเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุมีผลในทางศีลธรรมและสมเหตุสมผลในทางจริยธรรม มีคุณภาพยอดเยี่ยมเหมาะสมกับบุคคลแห่งเหตุผลผู้น่าเกรงขาม

**หมายเหตุผู้แปล**

[1] ขบวนการ “บอยคอตต์, ไดเวสต์เมนต์ แอนด์ แซงค์ชั่นส์” (Boycott, Divestment and Sanctions ใช้อักษรย่อว่า BDS) เป็นการรณรงค์เรียกร้องที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2005 โดยองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ของปาเลสไตน์รวม 171 องค์กร เพื่อให้นานาชาติช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ ด้วยการคว่ำบาตร, ไม่ลงทุน, และการลงโทษในระดับนานาชาติ ต่ออิสราเอล ตามคำแถลงเรียกร้องที่ออกมาในเดือนกรกฎาคม 2005 ระบุว่า การรณรงค์ของ BDS มุ่งส่งเสริมเร่งเร้าให้ใช้ “มาตรการลงโทษแบบไม่ใช้ความรุนแรง” ในรูปแบบต่างๆ มาต่อต้านคัดค้านอิสราเอล จนกว่าอิสราเอลจะ “ยินยอมกระทำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” ด้วยการ 1. ยุติการยึดครองดินแดนอาหรับทั้งหลายทั้งปวงและการปกครองดินแดนเหล่านั้นแบบอาณานิคม 2.ยอมรับสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอิสราเอลที่เป็นคนอาหรับ-ปาเลสไตน์ ให้พวกเขามีสิทธิ์มีความเท่าเทียมกับคนเชื้อสายอื่นๆ อย่างสมบูรณ์ และ 3. เคารพ, คุ้มครอง, และส่งเสริมสนับสนุนซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่จะเดินทางกลับไปยังบ้านเรือนและทรัพย์สินของพวกเขา ดังที่ระบุไว้ในมติสหประชาชาติหมายเลข 194 (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์การ์เดียน ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2013 มีเนื้อหารายละเอียดดังนี้

สตีเฟน ฮอว์คิง เข้าร่วมการคว่ำบาตรทางวิชาการต่ออิสราเอล

ศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮอว์คิง กำลังให้การหนุนหลังการคว่ำบาตรทางวิชาการต่ออิสราเอล ด้วยการถอนตัวไม่เข้าร่วมการประชุมในนครเยรูซาเลม ที่มีประธานาธิบดีชิมอน เปเรซ ของอิสราเอลเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นการประท้วงเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล

ฮอว์คิง ซึ่งปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่มีชื่อเสียงก้องโลก และเป็นอดีตศาสตราจารย์ลูคาเซียนทางด้านคณิตศาสตร์ (Lucasian Professor of Mathematics) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาได้ตอบรับคำเชื้อเชิญให้ไปร่วมเป็นองค์ปาฐกคนสำคัญในการประชุม “เผชิญหน้ากับวันพรุ่งนี้” (Facing Tomorrow) ซึ่งประธานาธิบดีอิสราเอลเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยที่ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีบุคคลระดับระหว่างประเทศคนสำคัญๆ มาแสดงปาฐกถาและเข้าร่วมการอภิปราย และมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนหลายพันคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ยังถือเป็นงานเฉลิมฉลองวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 90 ปีของเปเรซอีกด้วย

เวลานี้ฮอว์คิงมีสุขภาพที่ย่ำแย่มาก แต่ในสัปดาห์ที่แล้วเขาได้เขียนจดหมายสั้นๆ ถึงประธานาธิบดีอิสราเอล เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเขาเปลี่ยนใจไม่รับคำเชิญแล้ว เขาไม่ได้ประกาศการตัดสินใจของเขาต่อสาธารณชน แต่ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่นำออกเผยแพร่โดย คณะกรรมการแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อมหาวิทยาลัยของปาเลสไตน์ (British Committee for the Universities of Palestine) โดยที่ได้รับความเห็นชอบจากฮอว์คิงแล้ว ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของเขาที่จะเคารพและเข้าร่วมกระทำการคว่ำบาตร โดยอิงอยู่กับความรู้ของเขาในเรื่องเกี่ยวกับปาเลสไตน์ และอิงอยู่กับคำแนะนำอย่างเป็นเอกฉันท์ของบุคคลในแวดวงวิชาการในดินแดนดังกล่าวที่ตัวเขาเองติดต่อด้วย”

การตัดสินใจเช่นนี้ของฮอว์คิง ถือเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งในการรณรงค์เพื่อให้มีการคว่ำบาตร, การถอนการลงทุน, และการลงโทษ ซึ่งพุ่งเป้าหมายไปยังพวกสถาบันวิชาการของอิสราเอล

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหภาพครูอาจารย์แห่งไอร์แลนด์ (Teachers' Union of Ireland) กลายเป็นสมาคมของครูอาจารย์แห่งแรกในยุโรป ซึ่งออกมาเรียกร้องให้ทำการคว่ำบาตรทางวิชาการต่ออิสราเอล ส่วนในสหรัฐฯ พวกสมาชิกของสมาคมเพื่อการศึกษาคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย (Association for Asian American Studies) ได้ลงคะแนนสนับสนุนให้ดำเนินการคว่ำบาตรเช่นกัน และถือเป็นกลุ่มทางวิชาการระดับชาติกลุ่มแรกในสหรัฐฯซึ่งมีมติเช่นนี้

ในช่วงเวลา 4 สัปดาห์นับตั้งแต่ที่มีการแถลงเรื่องฮอว์คิงตกลงจะเข้าร่วมการประชุมในเยรูซาเลม เขาก็ถูกถล่มบอมบาร์ดด้วยจดหมายและเมสเสจต่างๆ ทั้งจากสหราชอาณาจักรและต่างแดน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อันเข้มข้นของพวกผู้สนับสนุนการคว่ำบาตรที่จะพยายามชักชวนเขาให้เปลี่ยนใจ ลงท้ายแล้ว ฮอว์คิงก็ได้แจ้งกับเพื่อนๆ ว่า เขาตัดสินใจที่จะทำตามคำแนะนำของพวกเพื่อนร่วมงานชาวปาเลไสต์ที่เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าเขาไม่ควรเข้าร่วม

การตัดสินใจใหม่ของฮอว์คิงต้องเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้อย่างดูหมิ่นเหยียดหยามบนเฟซบุ๊ก โดยมีผู้วิจารณ์จำนวนมากมุ่งเน้นไปที่สภาพร่างกายของเขา และบางคนก็กล่าวหาเขาว่าเป็นพวกต่อต้านยิว (anti-semitism)

จากการเข้ามีส่วนในการคว่ำบาตรเช่นนี้ ฮอว์คิงก็กำลังเข้าร่วมกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงชาวสหราชอาณาจักรจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งแต่กำลังเพิ่มขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้พากันปฏิเสธไม่รับคำเชิญให้ไปเยือนอิสราเอล เป็นต้นว่า เอลวิส คอสเทลโล (Elvis Costello), โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters), ไบรอัน อีโน (Brian Eno), แอนนี เลนนอกซ์ (Annie Lennox), และ ไมก์ ลีจ์ (Mike Leigh)

อย่างไรก็ตาม มีศิลปิน, นักเขียน, และนักวิชาการจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและกระทั่งประณามการคว่ำบาตรเช่นนี้ โดยระบุว่ามันไม่มีประสิทธิภาพและเป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง เอียน แมคอีแวน (Ian McEwan) ผู้ได้รับรางวัน เยรูซาเลม ไพรซ์ (Jerusalem Prize) ในปี 2011 ตอบโต้พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาโดยกล่าวว่า “ถ้าหากผมต้องเดินทางไปได้เฉพาะแต่ประเทศที่ผมเห็นด้วยเท่านั้นแล้ว บางทีผมคงจะไม่ได้ลุกขึ้นมาจากที่นอนเลย ... มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ยอดเยี่ยมอะไรหรอกถ้าทุกๆ คนเลิกติดต่อพูดจากัน”

โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ผู้สนับสนุนคนสำคัญมากของการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ บอกว่า ตัวเขาสนับสนุนการเรียกร้องให้มี “การคว่ำบาตรและการถอนการลงทุนของพวกกิจการต่างๆ ที่กำลังมีการดำเนินงานในบรรดาดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครอง” แต่เขาเห็นว่าการคว่ำบาตรอิสราเอลเป็นการทั่วไปนั้น จะกลายเป็น “การให้ของขวัญแก่พวกหัวแข็งกร้าวชาวอิสราเอลตลอดจนชาวอเมริกันที่เป็นผู้สนับสนุนพวกเขา”

ในอดีตที่ผ่านมาฮอว์คิงเคยเดินทางไปเยือนอิสราเอลมาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในปี 2006 ซึ่งเขาได้ไปแสดงปาฐกถาต่อสาธารณชนทั้งในมหาวิทยาลัยของอิสราเอลและของปาเลสไตน์ ในฐานะที่เป็นแขกของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในเทลอาวีฟ ในเวลานั้น เขากล่าวว่า เขา “กำลังเฝ้ารอคอยโอกาสที่จะกลับมายังอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ และมีความรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่ได้พบปะกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งที่เป็นชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์”

อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทัศนคติของเขาที่มีต่ออิสราเอลดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในทางแข็งกร้าวมากขึ้น ในปี 2009 ฮอว์คิงได้ประณามการที่อิสราเอลเข้าโจมตีดินแดนกาซาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยเขาบอกกับ ริซ ข่าน (Riz Khan) แห่งโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ (Al-Jazeera) ว่า สิ่งที่อิสราเอลกระทำเพื่อตอบโต้กับจรวดที่ยิงออกมาจากดินแดนกาซานั้น “ชัดเจนว่าเกินเลยไป ... สถานการณ์ในตอนนี้ก็เหมือนกับในแอฟริกาใต้ช่วงก่อนปี 1990 และไม่สามารถที่จะปล่อยให้มันดำเนินต่อไปได้แล้ว”

ทางด้าน อิสราเอล ไมมอน (Israel Maimon) ประธานของการจัดการประชุมประจำปีของประธานาธิบดีอิสราเอล ได้กล่าวถึงการตัดสินใจร่วมคว่ำบาตรของฮอว์คิงว่า “การตัดสินครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าละอายและผิดพลาด

“การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางวิชาการต่ออิสราเอลนั้นเป็นเรื่องน่าละอายและไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่ถือว่าจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพเป็นพื้นฐานของมนุษย์และภารกิจทางวิชาการ อิสราเอลนั้นเป็นประชาธิปไตยซึ่งทุกๆ ฝ่ายสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของพวกเขาไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร การตัดสินใจคว่ำบาตรนั้น เข้ากันไม่ได้กับการสนทนากันแบบประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง”

เมื่อปี 2011 รัฐสภาอิสราเอลได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งทำให้การที่บุคคลหรือองค์การใดก็ตามซึ่งออกมาเรียกร้องให้คว่ำบาตรอิสราเอล มีความผิดทางแพ่งที่อาจถูกลงโทษสั่งปรับเพื่อเป็นเงินชดเชย โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้มีความเสียหายเกิดขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ กฎหมายนี้ให้คำจำกัดความการคว่ำบาตรว่า เป็น “การหลีกเลี่ยงอย่างจงใจที่จะมีความผูกพันทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, หรือทางวิชาการ กับอีกบุคคลหนึ่งหรืออีกองค์ประกอบหนึ่ง เพียงเพราะเนื่องจากการที่บุคคลหรือองค์ประกอบนั้นๆ มีความผูกพันอยู่กับรัฐอิสราเอล, กับหนึ่งในสถาบันต่างๆ ของรัฐอิสราเอล, หรือกับอาณาบริเวณที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐอิสราเอล ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, หรือทางวิชาการ”
(ดูรายงานข่าวชิ้นนี้ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.guardian.co.uk/world/2013/may/08/stephen-hawking-israel-academic-boycott)

แรมซี บารูด (www.ramzybaroud.net) เป็นบรรณาธิการของเว็บไซต์ PalestineChronicle.com หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง My Father Was A Freedom Fighter: Gaza's Untold Story จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส (Pluto Press)
กำลังโหลดความคิดเห็น