เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลการศึกษาล่าสุดชี้ การเฟื่องฟูของยางพารากลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการยึดครองที่ดินเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานขององค์กร “โกลบอล วิทเนสส์” ซึ่งมีฐานในกรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ระบุว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตการยึดครองที่ดินที่เพิ่มขึ้น จากความเฟื่องฟูของการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง “ยางพารา” ที่เป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนนับหมื่นนับแสนได้รับผลกระทบ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนมากต้องถูกบุกรุกทำลาย
ทีมสำรวจของโกลบอล วิทเนสส์ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเทศเวียดนาม ผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก, ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว พบว่า ความต้องการยางจำนวนมหาศาลจากจีน ทั้งในรูปของยางรถยนต์และสินค้าอื่นๆ ที่มียางเป็นส่วนประกอบ ได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเข้าครอบครองที่ดินเพื่อรองรับการปลูกยางพาราเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและพื้นที่ป่าไม้เป็นวงกว้าง
ในเวียดนาม บริษัท หว่างแองซยาลาย (HAGL) และเวียดนาม รับเบอร์ กรุ๊ป (VRG) คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเข้ายึดครองที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนมาก เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา โดยการเข้ายึดที่ดินของบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ต่างได้รับการอำนวยความสะดวกจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เต็มไปด้วยพวกทุจริตฉ้อฉล นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลว่าบริษัททั้งสองแห่งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารดอยต์ช แบงก์ของเยอรมนี รวมถึงบรรษัทการเงินระหว่างประเทศซึ่งอยู่ภายใต้ธนาคารโลกอีกด้วย
ขณะที่สถานการณ์ในลาวและกัมพูชาก็ไม่แตกต่างจากในเวียดนามเท่าใดนัก โดยรายงานพบว่าที่ดินในกัมพูชามากกว่า 2.96 ล้านเอเคอร์ ได้กลายสภาพเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา โดยนับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา คาดว่ามีประชาชนราว 400,000 รายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียที่ดินทำกินไปให้กับพวกนายทุนยาง
รายงานของโกลบอล วิทเนสส์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ.1993 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้บรรดาสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ยุติการสนับสนุนแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยางพาราในพื้นที่
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของโลกจากการที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ มีผลผลิตยางออกสู่ตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาค คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม