.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บริษัทหว่างแองซยาลาย (Hang Anh Gia Lai) จากเวียดนาม ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มการก่อสร้างสนามบินในแขวง (จังหวัด) อัตตะปือ ทางตอนใต้สุดของลาวในสัปดาห์นี้ผ่านมา นี่คือสนามบิน 1 ใน 2 แห่งที่กลุ่มทุนจากเวียดนามสร้างให้รัฐบาลลาวภายใต้ข้อตกลงพิเศษ “เอกชนสร้างก่อน” และรัฐบาลใช้คืนในภายหลัง
พิธีวางศิลาฤกษ์จัดขึ้นวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง เดินทางไปร่วมด้วย และการก่อสร้างสนามบินหัวพัน มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ได้เริ่มขึ้น สนามบินนานาชาติแห่งนี้จะช่วยเปิดประตูสู่ดินแดนที่ค่อนข้างลี้ลับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามรายงาน
เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว หว่างแองซยาลาย ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ เริ่มก่อสร้างสนามบินนานาชาติอีกแห่งหนึ่งแขวงอัตตะปือ ด้วยเงินลงทุน 40 ล้านดอลลาร์ เป็นการเปิดประตูสู่ดินแดนลี้ลับในเขต “สามเหลี่ยมมรกต” พื้นที่พัฒนาในเขตรอยต่อ 3 ประเทศ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ รวมทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย
ทั้งสนามบินหัวพัน และสนามบินอัตตะปือสร้างขึ้นภายใต้สัญญาที่บริษัทเอกชนเวียดนามลงทุนสร้าง และรัฐบาลลาวผ่อนจ่ายเต็มมูลค่าโดยยกเว้นภาษีให้เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีรายละเอียดอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
แขวงหัวพัน เป็นเขตที่มั่นปฏิวัติเก่าแก่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามเพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส จนถึงสงครามที่ไม่ได้ประกาศในดินแดนลาวของสหรัฐฯ และนำมาสู่การยึดอำนาจในนครเวียงจันทน์ปี 2518
สนามบินแห่งใหม่อยู่ในแผนการของทางการลาวในการพัฒนาท่าอากาศยานหลายแห่งในภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง กับการท่องเที่ยว ซึ่งรวมทั้งสนามบินในแขวงเชียงขวาง อุดมไซ และบ่อแก้ว
สนามบินหัวพัน สร้างขึ้นในเนื้อที่ 180 เฮกตาร์ (1,143 ไร่เศษ) แบ่งเป็น 2 ระยะ เฟสที่ 1 กำหนดแล้วเสร็จปี 2558 มีทางวิ่งขึ้นลงยาว 2,400 เมตร กว้าง 30 เมตร สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก 70-100 ที่นั่ง และจะพัฒนายกระดับขึ้นเป็นสนามบินที่เครื่องบินระดับโบอิ้ง กับแอร์บัสขึ้นลงได้ สำนักข่าวการศึกษาเวียดนามหรือ “เกี่ยวดึ๊กเหวียดนาม” รายงาน
นายดว่าน-งเวียน-ดึ๊ก (Doan Nguyen Duc) ประธาน HAGL กล่าวในวันทำพิธีวางศิลาฤกษ์ว่า การก่อสร้างสนามบินหัวพันนั้นมีความยากลำบากว่าการก่อสร้างสนามบินอัตตะปือหลายเท่า แต่เชื่อว่า โครงการจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย และแล้วเสร็จตามกำหนด
ทั้ง 2 แขวงคือ อัตตะปือ และหัวพัน ที่อยู่ติดชายแดนเวียดนาม ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบัน เข้าลงทุนในแขนงต่างๆ ใน 2 แขวงนี้จำนวนหลายสิบโครงการ มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ รวมทั้งการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมการเกษตร และแขนงบริการต่างๆ
หว่างแองซยาลาย ปลูกยางพาราในพื้นที่หลายหมื่นไร่ในอัตตะปือ และก่อนหน้านี้เพียงข้ามสัปดาห์บริษัทได้เปิดโรงงานผลิตยางขึ้นในแขวงดังกล่าว ซึ่งมีความสามารถผลิตยางแผ่นได้ถึง 100,000 ตันต่อปี พร้อมโรงงานน้ำตาลอีก 1 แห่ง เพื่อผลิตเอทานอลจากอ้อย และผลิตปุ๋ยจากกากน้ำตาลด้วย
สำหรับอัตตะปือ ยังเป็นที่ตั้งเหมืองทองแห่งใหม่ของนักลงทุนจากเวียดนามเช่นกัน สนามบินที่นั่นจะเอื้อประโยชน์โดยตรงในการขนส่งโลหะล้ำค่าออกสู่ตลาดในวันข้างหน้า.