xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศหมดหวังพบผู้รอดชีวิต ไฟไหม้ขณะช่วยคนงานติดในซากตึกพัง110ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - หน่วยกู้ภัยบังกลาเทศถอดใจ นำเครนเข้าเคลียร์พื้นที่ ระบุไม่มีแนวโน้มเหลือผู้รอดชีวิตในซากตึกที่ถล่มตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเกิดไฟไหม้ขณะพยายามช่วยคนงานหญิงที่เชื่อว่า เป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายซึ่งทนรอความช่วยเหลืออย่างทรหดเป็นเวลานาน 110 ชั่วโมง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้านสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศประชุมหารือเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าต่างชาติ เให้คำมั่นปรับปรุงด้านความปลอดภัย

ในวันจันทร์ (28) หน่วยกู้ภัยบังกลาเทศเริ่มนำรถเครนเข้าไปยกชิ้นคอนกรีตขนาดยักษ์ออกจากซากอาคารรานา พลาซา ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงงานสิ่งทอหลายแห่ง โดยยอดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันล่าสุดอยู่ที่ 382 ราย และสูญหายอีกนับร้อย ส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงที่เชื่อว่า ติดอยู่ในซากตึกที่ถล่มลงมาตั้งแต่วันพุธที่แล้ว (24)

“เราให้ความสำคัญสูงสุดในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต แต่ตอนนี้มีความหวังน้อยมาก” ชาฮินัล อิสลาม โฆษกกองทัพกล่าว

การปฏิบัติการกู้ภัยเท่าที่ผ่านมาสามารถช่วยผู้ประสบเหตุออกมาได้ 2,500 คน ทว่า ช่วงคืนวันอาทิตย์ (28) ประกายไฟจากอุปกรณ์ตัดโลหะของเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ทำให้เกิดไฟไหม้ซากอาคารขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งมือช่วยคนงานหญิงคนหนึ่งที่เชื่อว่า เป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย

สถานีโทรทัศน์บังกลาเทศถ่ายทอดบทสัมภาษณ์พนักงานดับเพลิง ซึ่งต่างร่ำไห้เมื่อรู้ว่าไม่อาจช่วยชีวิตหญิงคนงานนาม ชาห์นาซ คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคิดอยู่ในซากอาคารมานานถึง 5 วัน โดยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเธอได้รับยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในเหตุหายนะครั้งนี้

“เกิดไฟไหม้ขึ้นระหว่างที่เรากำลังตัดคานเพื่อช่วยชีวิตหญิงคนงานรายนี้ ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่ยังรอดชีวิตอยู่ แต่ถึงเราจะดับไฟลงได้ ก็ปรากฎว่าเธอเสียชีวิตแล้ว” อาเหม็ด อาลี หัวหน้าหน่วยดับเพลิงให้สัมภาษณ์

“เธอเป็นหญิงใจกล้าที่ยืนหยัดสู้จนวาระสุดท้าย วันนี้เราทำงานกันตลอด 10-11 ชั่วโมงก็เพื่อจะช่วยเธอออกมา เราพยายามทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จ”

เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 3 รายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากไฟซึ่งถูกดับลงในไม่กี่นาที ผู้อำนวยการสำนักงานดับเพลิง ซิฮาดุล อิสลาม กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะยังมีศพคนงานถูกพบเพิ่มเติมอีก หลังจากที่หน่วยกู้ภัยหันไปใช้อุปกรณ์ขนาดหนักอย่างเช่น เครน เพื่อยกแผ่นหิน โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ใช้วิถีเคลื่อนย้ายซากปรักหักพังด้วยมือเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ภายใน

อาบุล คาเยอร์ พนักงานดับเพลิงซึ่งพยายามพูดคุยกับ ชาห์นาซ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือเธอ เล่าว่า เธอมีบุตรชายวัย 18 เดือนอยู่คนหนึ่ง

“เธอเป็นห่วงลูกชายมาก... เธอพูดกับผมว่า ผมเป็นพี่ชายของเธอ โปรดอย่าทิ้งเธอไว้ที่นั่น”

**อาคารสร้างบนหนองน้ำแถมต่อเติมพลการ**

พวกเจ้าหน้าที่บังกลาเทศระบุว่า อาคาร 8 ชั้นดังกล่าวสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เคยเป็นหนองน้ำมาก่อน โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้อง แถมยังมีการต่อเติมอาคารเพิ่มอีก 3 ชั้นโดยพลการ แต่ที่ร้ายที่สุดคือ พนักงานโรงงานสิ่งทอกว่า 3,000 คนที่ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว ถูกบังคับให้เข้าทำงานในตึกในวันพุธ แม้ได้รับคำเตือนว่า โครงสร้างอาคารไม่ปลอดภัยก็ตาม

ตรงกันข้ามกับพวกธนาคารและร้านค้าในอาคารเดียวกันที่ปิดให้บริการ หลังจากมีการตรวจพบรอยร้าวตั้งแต่วันอังคาร (23)

นับจากเกิดเหตุมีผู้ถูกจับกุมแล้ว 7 คน ประกอบด้วยเจ้าของโรงงาน 4 คน, วิศวกร 2 คน และโมฮัมเหม็ด โซเฮล รานา เจ้าของตึกที่ถูกหน่วยคอมมานโดบุกจับได้เมื่อวันอาทิตย์ขณะพยายามหลบหนีไปอินเดีย และเจ้าหน้าที่ระบุว่า เขาอาจถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายการก่อสร้าง รวมทั้งเป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต

นอกจากนี้ ตำรวจยังตามหาเจ้าของโรงงานคนที่ 5 ที่เป็นชาวสเปน

เหตุการณ์นี้นับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงในวงการอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นในรอบ 5 เดือนในบังกลาเทศ ชาติผู้ส่งออกสิ่งทออันดับ 2 ของโลกรองจากจีน โดยในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่โรงงานทาซรีน แฟชั่น ชานกรุงธากา มีผู้เสียชีวิต 112 คน

อุบัติเหตุเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยตลอดจนสภาพการทำงานอื่นๆ ของเหล่าคนงาน รวมทั้งทำลายชื่อเสียงของบังกลาเทศ ซึ่งต้องพึ่งพิงอาศัยอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นตัวทำยอดส่งออกถึง 80% ของทั้งหมด และว่าจ้างแรงงาน 3.6 ล้านคนหรือกว่า 40% ของแรงงานทั่วประเทศ ทั้งนี้คนงานสิ่งทอเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและมีรายได้เดือนละไม่ถึง 40 ดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ วันจันทร์ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงานกว่า 4,500 แห่ง จึงนัดประชุมกับตัวแทนแบรนด์เนมชั้นนำต่างชาติ เพื่อให้คำมั่นในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติการกู้ภัยของทางการบังกลาเทศ หลังจากโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ (สถานเอกอัครราชทูต) ของสหราชอาณาจักรประจำบังกลาเทศ ออกมายืนยันเมื่อวันจันทร์ว่า ธากาได้ปฏิเสธข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคของอังกฤษ

ขณะเดียวกัน บรรดาคนงานสิ่งทอซึ่งต้องกลับเข้าทำงานอีกครั้งในวันจันทร์ หลังจากโรงงานยอมให้หยุดไปในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อบรรเทากระแสความไม่พอใจ แต่ปรากฏว่าคนงานจำนวนมากยังคงแสดงความโกรธแค้นจากโศกนาฏกรรมนี้ โดยมีการทำลายรถยนต์ และจุดไฟเผารถพยาบาล จนทางการต้องส่งกองกำลังกึ่งทหารเข้าไปเสริมในย่านอุตสาหรรมกาซิปูร์ รวมทั้งสั่งปิดโรงงานหลายแห่งต่อไปอีก

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านสำคัญยังเรียกร้องให้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในวันที่ 2 พฤษภาคม เพื่อประท้วงโศกนาฏกรรมครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น