xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยได้อีก 24 ชีวิตติดใต้ซากตึกบังกลาเทศ แต่ยอดตายพุ่ง 250 ศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่บังกลาเทศวันพฤหัสบดี (25) ช่วยเหลือคนงานเหยื่ออาคารโรงงานเสื้อผ้าสูง 8 ชั้นพังถล่มตั้งแต่ช่วงเช้าวันพุธ(24) ออกมาได้ 24 ชีวิต หลังทั้งหมดติดอยู่ในห้องห้องหนึ่งใต้ซากหักพัง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีปรีดาของญาติๆ อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เสียชีวิตได้พุ่งสูงถึง 250 ศพแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศตามล่าเจ้าของและนำตัวมาลงโทษให้ได้

“เราพบผู้รอดชีวิต 24 คนติดอยู่ในห้องห้องหนึ่ง” โฆษกของทหารแถลงจากบริเวณซากหักพังของอาคาร รานา พลาซา ย่านชานกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ อันเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้า 5 บริษัทและมีพนักงานรวมกันราวๆ 3,000 คน “ทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือแล้ว”

ก่อนหน้านี้หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้อุปกรณ์ตัดเหล็กและเจาะคอนกรีตช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอาคารออกมาได้แล้วราวๆ 1,400 คน แต่เชื่อว่าใต้ซากอาคารยังมีคนงานรอความช่วยเหลืออยู่อีกไม่น้อย

มาห์บูบุระ เรห์มาน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของหน่วยดับเพลิงบอกกับเอเอฟพีว่าหน่วยกู้ภัยตัดสินใจหยุดใช้เครื่องมือหนักเข้าเคลียร์ซากหักพังเพื่อหลีกเลี่ยงการพังถล่มซ้ำซึ่งอาจปิดโอกาสรอดชีวิตของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากตึก “เราต้องขุดเจาะอย่างระมัดระวังและใช้เครื่องมือขนาดเล็กตัดผ่านชั้นต่างๆ ของอาคาร”

เอ็ม.อาซาดุซซามัน ผู้บังคับการตำรวจท้องถิ่นบอกกับเอเอฟพีว่า ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าของตึกแล้ว ฐานการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ขณะที่มีรายงานว่าผู้เป็นเจ้าของตึกคือเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของพรรครัฐบาล ส่วนทาง มุตตาฟิซูร์ ราห์มัน หัวหน้าตำรวจหน่วยรับมือปัญหาทางภาคอุตสาหกรรม ระบุว่าเวลานี้เจ้าของกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ หลังละเลยต่อคำเตือนห้ามเปิดใช้อาคารหลังนี้อีก

ด้านชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (25) จะตามล่าเจ้าของโรงงานเสื้อผ้ามาลงโทษให้ได้ หลังบังคับพนักงานกลับเข้าไปในตัวตึกจนเกิดโศกนาฏกรรมอันเลวร้าย “พวกที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าของที่บังคับคนงานกลับเข้าไปทำงาน จะต้องถูกลงโทษ” นายกรัฐมนตีบอกกับสภาผู้แทนราษฎร “ไม่ว่าเขาเป็นใคร เราจะต้องหาตัวให้พบและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”

เมื่อวันพุธ (24) โมฮัมหมัด อาซาดุสซามาน ผู้บัญชาการสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เผยว่า เจ้าของโรงงานเพิกเฉยต่อคำเตือนให้ห้ามพนักงานเข้าไปในอาคาร หลังจากมีการตรวจพบรอยร้าวในวันอังคาร (23) สอดคล้องกับที่พนักงานบางคนเล่าว่า อาคารดังกล่าวเริ่มร้าวตั้งแต่คืนวันอังคาร ทำให้คนงานพากันอพยพออกจากตึก แต่ก็ถูกผู้จัดการสั่งให้กลับเข้าทำงานต่อ หลังจากนั้นเพียงชั่วโมงเดียว อาคารก็ถล่มลงมา

ณ จุดเกิดเหตุในวันพฤหัสบดี (25) ญาติๆ ผู้เป็นกังวลหลายพันคนต่างเฝ้ามองปฏิบัติการกู้ภัยของเจ้าหน้าที่ ด้วยความหวังว่าจะพบบุคคลอันเป็นที่รักยังมีชีวิตอยู่ใต้ซากหักพัง ท่ามกลางยอดเหยื่อที่พุ่งเป็นหลายร้อยคนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,000 คน

เสียงร้องโหยหวนจากผู้รอดชีวิตที่เล็ดลอดผ่านรอยแยกของซากคอนกรีตก่อความหวังบ้างบางส่วน แต่ตลอดทั้งวันพฤหัสบดี (25) เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับกู้ศพผู้เสียชีวิตออกมา “เราพบผู้เสียชีวิตแล้ว 250 ศพ แต่ก็กังวลว่าน่าจะมีอีกมากที่ยังอยู่ใต้ซากหักพัง” นายตำรวจระดับอาวุโสนายหนึ่งบอกกับเอเอฟพี พร้อมระบุว่าผู้ตายเกือบทั้งหมดเป็นคนงานหญิงของเหล่าโรงงานเสื้อผ้าที่อยู่ในอาคารดังกล่าว

โศกนาฏกรรมหนล่าสุดนี้จุดชนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์รอบใหม่ต่อบริษัทแบรนด์เนมตะวันตก ที่ถูกเหล่านักเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าให้ความสำคัญกับผลกำไรมาก่อนความปลอดภัย ด้วยการยังคงฐานผลิตสินค้าในบังกลาเทศ แม้ว่าประเทศแห่งหนี้แม้ประวัติเกิดหายนะเลวร้ายขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

บังกลาเทศนั้นเป็นผู้ผลิตสิ่งทออันดับ 2 ของโลก โดยรับจ้างผลิตให้แบรนด์ตะวันตก อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศนี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีการประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรงและปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานจากพนักงานอยู่เนืองๆ

เทสเซล พอลี โฆษกกลุ่ม คลีน โคลธส์ แคมเปญ (Clean Clothes Campaign) ซึ่งมีฐานที่กรุงอัมสเตอร์ดัม แถลงว่า เหตุอาคารถล่มครั้งล่าสุดสะท้อนปัญหาด้านมาตรฐานความปลอดภัยในบังกลาเทศ และบริษัทต่างชาติเองก็เห็นแก่ผลกำไรเสียจนละเลยสวัสดิภาพของแรงงานผู้ผลิตสินค้า

“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า บริษัทใหญ่ๆเหล่านี้ยังไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยเท่าที่ควร พวกเขาทราบว่าควรทำอย่างไร แต่ไม่เคยลงมือทำ” พอลี กล่าว ส่วนสหภาพแรงงานบังกลาเทศและนักสิทธิมนุษยชนก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเอาผิดกับเจ้าของโรงงานอย่างจริงจัง

รัฐบาลบังกลาเทศประกาศลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแก่เหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่แสนต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นรายได้หลักของบังกลาเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น