เอเอฟพี - หน่วยกู้ภัยบังกลาเทศยังคงเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากอาคารโรงงานเสื้อผ้าสูง 8 ชั้น ซึ่งพังถล่มลงมาทั้งหลังเมื่อวานนี้(24) ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็น 175 รายแล้ว
การพังถล่มของอาคาร รานา พลาซา ย่านชานกรุงธากา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้า 5 บริษัท ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 1,000 คน โดยมีข่าวว่าผู้จัดการโรงงานไม่สนใจคำเตือนของเจ้าหน้าที่ซึ่งแจ้งล่วงหน้าแล้วว่า ตัวอาคารอยู่ในสภาพไม่มั่นคง
รัฐบาลบังกลาเทศประกาศลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแก่เหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่แสนต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นรายได้หลักของบังกลาเทศ
วาลี อัสรอฟ ตำรวจอาวุโสผู้หนึ่ง ระบุว่า หน่วยกู้ภัยพบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 175 ราย โดยมีประชาชนหลายพันคนพยายามเข้ามายังจุดเกิดเหตุเพื่อสืบหาข่าวคราวญาติมิตรที่สูญหาย
หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้อุปกรณ์ตัดเหล็กและเจาะคอนกรีตช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอาคารออกมาได้แล้วราว 1,400 คน แต่เชื่อว่าใต้ซากอาคารยังมีคนงานรอความช่วยเหลืออยู่อีกไม่น้อย
“เรายังได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากใต้ซากอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้นำน้ำดื่ม, บิสกิต และออกซิเจน ใส่เข้าไปตามช่อง เพื่อช่วยประทังชีวิตพวกเขาไว้ก่อน” พันตรี มะห์บูบูร์ ราห์มาน ผู้อำนวยการสำนักงานดับเพลิง ให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่าเจ้าหน้าที่หยุดใช้เครื่องมือขนาดใหญ่เคลื่อนย้ายซากคอนกรีตแล้ว เพราะเกรงจะเป็นอันตรายกับคนงานที่ติดอยู่ภายใน
ผู้รอดชีวิตหลายคนเล่าว่า อาคาร รานา พลาซา เริ่มมีรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เย็นวันอังคาร(23) จนต้องสั่งอพยพคนงานราว 3,000 คน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ได้รับคำสั่งให้กลับเข้าไปทำงานตามปกติ
“พวกผู้จัดการสั่งให้เรากลับเข้าไปทำงาน อีกประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา ตึกก็พังครืนลงมาทั้งหลัง เสียงดังสนั่น” มูสุมิ คนงานวัย 24 ปี เผย
เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานทอผ้าตัซรีนชานกรุงธากา ซึ่งผลิตเสื้อผ้าสำหรับห้างวอลมาร์ทและแบรนด์ตะวันตกอีกหลายยี่ห้อ เพลิงไหม้ครั้งนั้นมีคนงานสังเวยชีวิตไปถึง 111 คน โดยผู้รอดชีวิตเผยว่า คนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถหนีออกจากตัวอาคารสูง 9 ชั้นได้ เนื่องจากผู้จัดการโรงงานล็อกประตูหนีไฟเอาไว้
เทสเซล พอลี โฆษกกลุ่ม คลีน โคลธส์ แคมเปญ (Clean Clothes Campaign) ซึ่งมีฐานที่กรุงอัมสเตอร์ดัม แถลงว่า เหตุอาคารถล่มครั้งล่าสุดสะท้อนปัญหาด้านมาตรฐานความปลอดภัยในบังกลาเทศ และบริษัทต่างชาติเองก็เห็นแก่ผลกำไรเสียจนละเลยสวัสดิภาพของแรงงานผู้ผลิตสินค้า
“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า บริษัทใหญ่ๆเหล่านี้ยังไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยเท่าที่ควร พวกเขาทราบว่าควรทำอย่างไร แต่ไม่เคยลงมือทำ” พอลี กล่าว
ด้านสหภาพแรงงานบังกลาเทศและนักสิทธิมนุษยชนก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเอาผิดกับเจ้าของโรงงานอย่างจริงจัง