ตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันวิ่งมาราธอนในรายการเก่าแก่อย่าง “บอสตัน มาราธอน” ทางตะวันออกของมลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์สของสหรัฐฯ ถือเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกตกตะลึงไปทั่วโลก
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของการแข่งขันมาราธอนรายการนี้ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังถือเป็นเหตุวินาศกรรมครั้งแรกบนแผ่นดินเมืองลุงแซมนับตั้งแต่การโจมตีของสมาชิกเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ด้วย
เหตุโจมตีด้วยระเบิดจำนวน 2 ชุดซึ่งถูกควบคุมด้วย “รีโมท” เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย พลเรือน 3 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย รวมถึงคนร้าย 1 ราย ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีเกือบ 300 คน
หลังเกิดเหตุ หน่วยงานต่างๆทางด้านความมั่นคงและข่าวกรองของสหรัฐฯ ทั้งสำนักงานข่าวกรองกลาง(ซีไอเอ) และสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) รวมถึง ตำรวจบอสตันต่างเร่งควานหาตัวคนร้ายผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมครั้งนี้ จนกระทั่งในวันที่ 18 เมษายนทางการสหรัฐฯได้เผยแพร่ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอของผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็น 2 พี่น้องเชื้อสายมุสลิมเชชเนียตระกูลซาร์นาเยฟหรือซาร์เนฟ “ทาเมอร์ลันและโชคาร์” พร้อมออกประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแสของบุคคลทั้งสอง
ไม่นานหลังออกประกาศ สองพี่น้องตระกูลซาร์นาเยฟก็มีอันต้อง “หนีหัวซุกหัวซุน” เพื่อเอาชีวิตรอด และระหว่างนั้น พวกเขาได้ก่อเหตุสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตต์ส (MIT) 1 นาย เพื่อชิงอาวุธปืน และยังก่อเหตุจี้รถเอสยูวีคันหนึ่งเพื่อหลบหนี ก่อนจะจนมุมและนำไปสู่การเปิดฉากยิงปะทะกับตำรวจ ที่เมืองวอเทอร์ทาวน์ มลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์ส
ผลจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้สองพี่น้องซาร์นาเยฟต่างได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่ทาเมอร์ลัน ผู้เป็นพี่ชายจะเสียชีวิตลงในเวลาไม่นาน ขณะที่โชคาร์ น้องชายซึ่งมีอายุอ่อนกว่า 7 ปียังฝืนสังขารหลบหนีออกจากพื้นที่ยิงปะทะไปได้ ก่อนถูกจับกุมตัวได้ภายในเมืองวอเทอร์ทาวน์ในอีกหลายชั่วโมงให้หลัง จากการแจ้งเบาะแสของ “พลเมืองดี” รายหนึ่ง และถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาล ท่ามกลางรายงานข่าวที่ระบุว่า โชคาร์ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงที่ลำคอ และอาจพูดไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต
อย่างไรก็ดี โชคาร์ ซาร์นาเยฟ ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ขณะยังคงนอนรักษาตัวอยู่บนเตียงโรงพยาบาล โดยหนึ่งในข้อหาที่เขาได้รับ คือ การใช้และสมคบคิดเพื่อใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
โชคาร์ วัย 19 ปี ซึ่งได้รับสัญชาติอเมริกันแล้ว ให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนโดยเขายืนยันว่า ทาเมอร์ลัน พี่ชายวัย 26 ปีของเขาที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าเป็นตัวการวางแผนทั้งหมดเพียงลำพัง และไม่มีเครือข่ายก่อการร้ายข้ามชาติใดๆ อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น โดยโชคาร์ระบุว่า จุดมุ่งหมายของการก่อเหตุโจมตีครั้งนี้ เป็นเพราะต้องการปกป้อง “ศาสนาอิสลาม”
ด้านรัมซาน คาดีรอฟ ผู้นำของสาธารณรัฐเชเชน หรือ “เชชเนีย” ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียออกมาปฏิเสธว่า ทาเมอร์ลันและโชคาร์ สองพี่น้องที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดโจมตีการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับดินแดนของตน พร้อมกล่าวหาความพยายามใดที่จะโยงเอาเชชเนียไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นเพียงความต้องการของทางการสหรัฐฯในการหา “แพะรับบาป” เท่านั้น
ขณะที่อัคเหม็ด ซากาเยฟ แกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชนซึ่งลี้ภัยอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรก็ออกโรงประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมปฏิเสธความเกี่ยวข้องระหว่างคนร้ายทั้งสองพี่น้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวของตนอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน
แม้ในที่สุดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะสามารถสังหารและจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญไว้ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ยังมี “คำถามคาใจ” มากมายที่ทางการสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องตอบสาธารณชนอเมริกันให้ได้ หลังมีข้อมูลว่า เอฟบีไอได้ใส่รายชื่อของทาเมอร์ลัน ซาร์นาเยฟเอาไว้ในฐานข้อมูลลับ เกี่ยวกับการก่อการร้ายที่มีชื่อเรียกว่า “Terrorist Identities Datamart Environment” ตั้งแต่เมื่อ 18 เดือนก่อน รวมถึง ยังเคยมีการเรียกตัวทาเมอร์ลันมาสอบปากคำ แต่ทว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกลับมีการปล่อยปละละเลย จนกระทั่งทาเมอร์ลันลงมือก่อเหตุร้ายที่บอสตันได้ในที่สุด
ล่าสุด สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯต่างรายงานว่า ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลของโอบามาได้รับการเตือนจากรัฐบาลรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินหลายครั้งในช่วงก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทาเมอร์ลัน ซาร์นาเยฟ แต่กลับไม่เคยมีการดำเนินการใดๆอย่างจริงจัง หลังจากได้รับคำเตือนจากทางการรัสเซีย
ดังนั้น จึงไม่ผิดหนักหากจะกล่าวว่า เหตุระเบิดที่บอสตันในครั้งนี้ กลายเป็นบททดสอบสำคัญต่อรัฐบาลโอบามาที่ “สอบตก” อย่างสิ้นเชิงในการปกป้องชีวิตประชาชนชาวอเมริกัน ทั้งที่มีข้อมูลข่าวกรองที่เชื่อถือได้อยู่ในมือ ขณะเดียวกัน การก่อวินาศกรรมโดยฝีมือสองพี่น้องเชื้อสายเชเชนยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า นับจากนี้ สหรัฐฯอาจต้องเผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากกลุ่มก่อการร้ายขนาดย่อมๆ ที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่ราย และปฏิบัติการอย่างอิสระ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่รับมือได้ยากยิ่งกว่าการเผชิญหน้ากับพวกเครือข่ายอัลกออิดะห์และตอลิบานหลายเท่า