xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯทุ่ม $310 ล้านหนุนโครงการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ “มีดส์” ปีสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองลักษณะภายนอกของระบบป้องกันขีปนาวุธ มีดส์ (MEADS) ซึ่งสหรัฐฯ, อิตาลี และเยอรมนี ร่วมสนับสนุนเงินทุนพัฒนา (ภาพ: วิกิพีเดีย)
รอยเตอร์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณราว 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่ออุดหนุนโครงการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ “มีดส์” (Medium Extended Air and Missile Defense System - MEADS) โดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ในปีสุดท้าย โฆษกเพนตากอนแถลง วานนี้ (9)

โมรีน ชูแมนน์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า วงเงิน 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งรวมอยู่ในแผนงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่สภาคองเกรสอนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว จะช่วยให้การพัฒนาขีปนาวุธมีดส์อันเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ, อิตาลี และเยอรมนี สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และจะเก็บเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

กระบวนการพัฒนาขั้นสุดท้ายยังรวมถึงการทดสอบยิงสกัดกั้น ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2013

“การสนับสนุนโครงการขีปนาวุธมีดส์เป็นไปตามพันธสัญญาที่เรามีต่อหุ้นส่วน คือ กระทรวงกลาโหมเยอรมนี และอิตาลี เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์” โฆษกเพนตากอนระบุในถ้อยแถลง

ในการพิจารณาเพื่ออนุมัติร่างงบประมาณชั่วคราวของกระทรวงกลาโหมเมื่อปลายปีที่แล้ว คองเกรสไม่เห็นชอบกับการเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมให้กับโครงการนี้ และชี้ว่าสหรัฐฯไม่ควรอุดหนุนโครงการพัฒนาอาวุธที่เพนตากอนไม่ได้คิดจะใช้ประโยชน์จริงจัง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากฝ่ายเยอรมนี และอิตาลี เตือนว่า การตัดเงินอุดหนุนจะทำให้สหรัฐฯต้องบาดหมางกับประเทศหุ้นส่วน ซึ่งได้ร่วมลงทุนไปกับโครงการขีปนาวุธมีดส์ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว

ท้ายที่สุด งบประมาณก้อนนี้ก็ผ่านสภา พร้อมกับกฎหมายงบประมาณประจำปีของวอชิงตัน โดยระบุวงเงินอุดหนุน 348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับโครงการพัฒนาขีปนาวุธมีดส์ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่ระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต ทว่าวงเงินดังกล่าวต้องถูกตัดทอนลงไป 10% ตามนโยบายลดรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม ทำให้วงเงินสุทธิเหลืออยู่เพียงราวๆ 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ล็อกฮีดมาร์ติน แถลงว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธมีดส์มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าขีปนาวุธแพทริออตซึ่งพัฒนาโดยบริษัท เรย์ธีออน โค.และมีศักยภาพในการสกัดกั้นอาวุธของฝ่ายศัตรูได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกว่าด้วย

ล็อกฮีด ยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศชนิดนี้ร่วมกับเยอรมนี และอิตาลีต่อไป แม้ว่าสหรัฐฯจะขอถอนตัวภายหลังก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น