เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นักเศรษฐศาสตร์ระดับท็อปประจำธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาแห่งยุโรป (อีบีอาร์ดี) เตือนวิกฤตในไซปรัสคุกคามการเติบโตของหลายประเทศในยุโรปตะวันออก พร้อมชี้สโลวีเนียอาจกลายเป็นสมาชิกยูโรโซนรายต่อไปที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน
เยโรมิน เซ็ตเทิลเมเยอร์ รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของอีบีอาร์ดี เผยที่สำนักงานใหญ่ของอีบีอาร์ดีในกรุงลอนดอนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเตือนว่าวิกฤตในภาคธนาคารและหนี้สินจำนวนมหาศาลของไซปรัสจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยุโรปตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ยังคงต้องพึ่งพาการไหลเวียนของเงินทุนต่างชาติ และการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในไซปรัสรวมถึงมาตรการช่วยเหลือของชาติในยุโรปต่อไซปรัส กำลังทำลายกลไกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติไปจนหมดสิ้น
รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของอีบีอาร์ดีชี้ว่า ความเสียหายในระดับที่มิอาจยอมรับได้ที่เกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินในธนาคารของไซปรัส เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินช่วยเหลือมูลค่า 10,000 ล้านยูโรนั้น กำลังสร้างความตื่นตระหนกให้แก่บรรดานักลงทุนต่างชาติและกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศในยุโรปตะวันออกที่ต้องพึ่งการไหลเวียนของเงินลงทุนจากต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และคาดว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบอาจมีถึง 29 ประเทศ
เซ็ตเทิลเมเยอร์ยังเตือนว่า สโลวีเนียอดีตดินแดนคอมมิวนิสต์ชาติแรกที่ประกาศใช้ “เงินยูโร” เป็นเงินตราสกุลหลักของประเทศ อาจกลายเป็นประเทศสมาชิกยูโรโซนรายที่ 6 ที่ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน หลังจากรัฐบาลสโลวีเนียต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นหนที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่สัดส่วนของ “หนี้เน่า” ในภาคธนาคารของสโลวีเนียก็เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่มีสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศประสบภาวะล่มสลาย
ทั้งนี้ ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อต้นปีระบุว่า สโลวีเนียจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านยูโรในปีนี้ ขณะที่ภาคธนาคารของสโลวีเนียก็ต้องการเงินอัดฉีดเพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านยูโร