เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ชาวมอนเตเนโกรเดินทางออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาของตนในวันอาทิตย์ (7) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเพียงครั้งที่ 2 เท่านั้นนับแต่แยกประเทศจากเซอร์เบีย เมื่อปี 2006 ท่ามกลางการคาดหมายว่า ผู้นำคนปัจจุบันคือ ประธานาธิบดี ฟิลิป วูยาโนวิช ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2003 จะเป็นฝ่ายคว้าชัย โดยประธานาธิบดี วูยาโนวิช ผู้นี้คือผู้ที่อนุมัติคำสั่งมอบหนังสือเดินทางและสัญชาติมอนเตเนโกรให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกโค่นอำนาจ และอยู่ระหว่างหลบหนีคดีทุจริตเร่ร่อนในต่างแดน
รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า วูยาโนวิช วัย 58 ปี และพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ โซเชียลลิสต์ส ของเขาถูกยกให้เป็น “เต็งหนึ่ง” ที่จะได้กลับมาครองอำนาจอีกหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากคู่แข่งสำคัญอย่างนายมิโอดราก เลกิช ที่เป็นอดีตนักการทูตนั้น ถูกโจมตีมาตลอดว่ามีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเซอร์เบีย มากเกินไป โดยผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในช่วงก่อนเปิดหีบเลือกตั้งระบุ ประธานาธิบดี วูยาโนวิช มีคะแนนนิยมนำหน้าเลกิชราว 10 จุด
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในคาบสมุทรบอลข่าน ให้ความเห็นว่า การที่วูยาโนวิชและพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ โซเชียลลิสต์ส ของเขามีโอกาสชนะเลือกตั้งสูงนั้น ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลภายใต้การนำของวูยาโนวิชได้รับความนิยมจากประชาชน แต่เป็นเพราะประชาชนยังมองไม่เห็นว่าจะมี “ผู้สมัครทางเลือกใหม่” รายใดที่ดีพอที่จะเป็น “ความหวังใหม่” แก่พวกเขาได้ และคาดว่าจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 511,000 คน
ด้าน เวลย์โก ราซิช ตัวแทนชาวบ้านในกรุงปอดโกริกา ออกมาเปิดเผยว่า ในเวลานี้ชาวมอนเตเนโกรรู้สึกเบื่อหน่ายกับภาวะทางการเมืองของประเทศที่ถูกผูกขาด โดยประธานาธิบดี วูยาโนวิช และพรรคพวกซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลชุดนี้มีการทุจริตสูง
ราซิช เผยว่าในความเป็นจริงแล้วชาวมอนเตเนโกรจำนวนมาก “ไม่ปลื้ม” กับรัฐบาลของวูยาโนวิช แต่ก็ยังไม่มั่นใจที่จะหันไปเทคะแนนให้กับบรรดาผู้สมัครของฝ่ายค้าน เพราะเกรงว่าผู้สมัครที่ยังไม่มีประสบการณ์อาจทำให้สถานะของประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจย่ำแย่เลวร้ายกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า วูยาโนวิชจะต้องหันมาเอาจริงเอาจัง กับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น หากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ และได้กลับมาครองอำนาจเป็นสมัยที่ 3 และรัฐบาลของวูยาโนวิชอาจอยู่ไม่ครบเทอมหากยังคงล้มเหลวในการแก้ปัญหาภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานของชาวมอนเตเนโกรที่พุ่งสูง รวมถึงความชัดเจนในการก้าวเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในอนาคต
การเลือกตั้งหนนี้มีขึ้นในขณะที่ชาวมอนเตเนโกรราว 632,000 คนทั่วประเทศ กำลังเผชิญกับความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากการที่อัตราว่างงานของประเทศพุ่งแตะระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ และหนี้สาธารณะของประเทศพุ่งสูงกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่ชาวมอนเตเนโกรมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 480 ยูโร (ราว 18,140 บาท)
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี ฟิลิป วูยาโนวิช คือ ผู้ที่ตัดสินใจเมื่อปี 2010 มอบหนังสือเดินทาง รวมถึงสัญชาติมอนเตเนโกรให้เป็นกรณีพิเศษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่หนีคดีทุจริตอยู่ในต่างแดน โดยหวังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ