xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:คาบสมุทรเกาหลีลุกเป็นไฟ หวั่นภัยคุกคาม “สงครามนิวเคลียร์” โสมแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวต่างประเทศที่ดูจะร้อนแรงและได้รับความสนใจมากที่สุดข่าวหนึ่งในช่วงเวลานี้ คือข่าวความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีที่กำลังร้อนระอุด้วยภัยคุกคามจาก “สงครามนิวเคลียร์”ที่อาจก่อตัวขึ้นได้ทุกเมื่อโดยฝีมือของรัฐบาลเกาหลีเหนือในกรุงเปียงยาง ภายใต้การนำของ “คิม จอง อึน” ผู้นำสูงสุดแห่งแดนโสมแดง ซึ่งเพิ่งมีอายุราว 30 ปี ที่ก้าวขึ้นครองอำนาจต่อจากคิม จอง-อิล ผู้เป็นบิดาที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ 17 ธันวาคม 2011

นับตั้งแต่ต้นปี 2013 ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มก่อตัวชัดเจนและถือเป็นสถานการณ์ตึงเครียดที่สุดบนคาบสมุทรแห่งนี้ในรอบหลายปี หลังจากทางการเปียงยางออกมาประกาศเมื่อวันที่ 24 มกราคมว่ามีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะโจมตีเป้าหมายในสหรัฐด้วยขีปนาวุธและความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ของตน พร้อมระบุว่า สหรัฐอเมริกาคือ “ศัตรูตัวฉกาจของชาติ” สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณเริ่มแรกที่บ่งชี้ว่า คาบสมุทรเกาหลีกำลังจะลุกเป็นไฟในปีนี้

จากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม “เปลวไฟแห่งความตึงเครียด” เริ่มโหมกระพือหนักขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี จากการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนของรัฐบาลเกาหลีเหนือโดยเฉพาะการที่รัฐบาลเปียงยางประกาศถอนตัวจากข้อตกลงที่ระบุจะไม่รุกรานเกาหลีใต้พร้อมประกาศปิดแนวพรมแดนกั้นสองเกาหลี และตัดสายด่วนต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลโซลจนหมดสิ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การที่เกาหลีเหนือประกาศยกเลิก “สัญญาสงบศึกชั่วคราว” หลังสงครามเกาหลีที่ทำไว้ในปี ค.ศ.1953 ซึ่งหมายความว่า นับจากนี้ การสู้รบครั้งใหม่ระหว่าง 2 เกาหลีพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ด้านรายงานของสำนักข่าวกลางแห่งเกาหลี หรือ “เคซีเอ็นเอ” ซึ่งเป็น “กระบอกเสียง” ของรัฐบาลเปียงยาง ระบุว่า ขณะนี้บรรดาแม่ทัพนายกองในกองทัพเกาหลีเหนือต่างได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมในระดับสูงสุด และต่างตระหนักดีว่า “สงครามครั้งใหม่” ในคาบสมุทรเกาหลีอาจปะทุขึ้นได้ในไม่ช้า

สอดคล้องกับคำประกาศของรัฐบาลโสมแดงเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาที่ระบุว่า ประเทศของตนได้ก้าวสู่ “ภาวะสงคราม” กับเกาหลีใต้แล้ว และพร้อมตอบโต้ต่อการกระทำที่ยั่วยุใดๆจากศัตรูของชาติซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงเกาหลีใต้และสหรัฐฯ

ท่าทีดังกล่าวของเกาหลีเหนือ มีขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯตัดสินใจส่งเรือพิฆาตหลายลำ รวมถึง เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน“B-2”เข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีเพื่อร่วมซ้อมรบประจำปีกับเกาหลีใต้ ซึ่งเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นดังกล่าวนี้ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีขีดความสามารถในการรองรับการติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ ขณะที่ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ “เพนตากอน” ออกมาประกาศว่ามีความพร้อมในระดับสูงสุดเช่นกัน ในการ“ปกป้องตนเองและชาติพันธมิตร” จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากเปียงยาง

เมื่อถึงจุดนี้ หลายฝ่ายอาจคิดไปว่า สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี อาจเริ่มคลี่คลายหรือไม่ก็น่าจะลดดีกรีความร้อนแรงลงมาได้บ้าง เพราะถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอเมริกัน ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อความก้าวร้าวของเกาหลีเหนือ

แต่ทว่าเหตุการณ์กลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการออกโรงของนายใหญ่แห่งเพนตากอนกลับกลายเป็น “เชื้อไฟอย่างดี” ที่ทำให้คิม จอง อึน ผู้นำหนุ่มน้อยร่างอ้วนของเกาหลีเหนือไม่พอใจอย่างรุนแรง และตอบโต้ด้วยการประกาศในวันที่ 2 เมษายนว่า รัฐบาลโสมแดงจะเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในศูนย์วิจัยในเมืองยอง-บยอน ที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ด้วยแร่ “พลูโตเนียม” อีกครั้ง

ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือนี้เท่ากับเป็นการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยอง-บยอนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มันถูกปิดลง หลังการเจรจา 6 ฝ่ายเรื่องโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือในปี 2007

หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง คือ ในวันที่ 3 เมษายน ทางการเกาหลีเหนือประกาศปิดเขตอุตสาหกรรมร่วม “แกซอง” ไม่ให้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายเกาหลีใต้เข้าไปปฏิบัติงานภายใน และขู่จะถอนแรงงานเกาหลีเหนือที่มีอยู่กว่า 53,000 รายออกจากเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว

พฤติกรรมก้าวร้าวของรัฐบาลเปียงยางดูจะยังไม่ยุติลงโดยง่ายเพราะในวันพฤหัสบดี (4) มีการประกาศว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือได้ “เปิดไฟเขียว” ให้กองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ซึ่งมีกำลังพลประจำการกว่า 9.5 ล้านคนและเป็นหนึ่งในกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถเปิดการโจมตีด้วย “อาวุธนิวเคลียร์” ต่อสหรัฐฯได้ จนชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมเมืองลุงแซมต้องออกมาแถลงว่า รัฐบาลวอชิงตันพร้อมดำเนินทุกมาตรการเพื่อขจัดภัยคุกคามและประกาศจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธที่ “เกาะกวม”ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิกทันที เพื่อรองรับความเป็นไปได้ที่อาจถูกโจมตีจากอาวุธของเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกันคำขู่โจมตีสหรัฐฯด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ยังส่งผลให้จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องออกมาเตือนว่า พฤติกรรมก้าวร้าวของเกาหลีเหนือที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นแรมเดือน เริ่มจะ “ล้ำเส้น” และถือเป็น “ภัยคุกคามที่ชัดแจ้ง” มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯและชาติพันธมิตร

ทั้งนี้ ในทางเทคนิคแล้วเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังถือว่าเป็น “คู่สงคราม” ระหว่างกัน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการทำข้อตกลงสันติภาพที่ถาวรระหว่าง 2 เกาหลี ทั้งที่การสู้รบนาน 3 ปี ระหว่างช่วงสงครามเกาหลีจะสิ้นสุดไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังคงกำลังทหารอเมริกันไว้ในเกาหลีใต้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ต่ำกว่า 28,500 คนเพื่อปกป้องดินแดนโสมขาว

ในอีกด้านหนึ่ง แม้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างลงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการปะทุของความขัดแย้งรอบใหม่บนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจหมายถึง “สงครามนิวเคลียร์”แต่ถึงกระนั้น ขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลโสมแดงก็ยังคงเป็นที่กังขาของหลายฝ่าย โดยเฉพาะความสามารถในการโจมตีเป้าหมายต่างๆในแผ่นดินสหรัฐฯ ด้วยหัวรบนิวเคลียร์ที่โหลดติดเข้ากับขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ

ซีกฟรีด เฮคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาความมั่นคงและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้เกาหลีเหนือจะเคยประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินถึง 3 ครั้ง (ครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) แต่เชื่อว่า เกาหลีเหนือยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถทำการโจมตีเป้าหมายในสหรัฐฯ หรือแม้แต่การโจมตีเกาหลีใต้ ด้วยขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

อย่างไรก็ดี เดวิด คัง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย และผู้ร่วมเขียนหนังสือเกี่ยวกับเกาหลีเหนือที่ชื่อ “Nuclear North Korea: A Debate on Engagement Strategies, ” กลับตั้งข้อสังเกตโดยให้มุมมองที่ต่างออกไป

โดยศาสตราจารย์รายนี้ระบุ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเกาหลีเหนือในเวลานี้ อาจไม่ใช่เพียงแค่ความพยายามของคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือในการเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ และอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างฐานอำนาจของคิม จอง อึน ให้แข็งแกร่งและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากบรรดาแม่ทัพนายกองและผู้อาวุโสในเปียงยาง

ศาสตราจารย์คังชี้ว่า แม้พฤติกรรมก้าวร้าวในทำนองนี้จะเคยพบเห็นได้ในผู้นำเกาหลีเหนือที่ล่วงลับไปแล้ว อย่างคิม อิล-ซุง และคิม จอง-อิล แต่ทว่าในกรณีของคิม จอง อึนนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากเขาได้ก้าวขึ้นครองอำนาจสูงสุดทั้งในรัฐบาลและกองทัพเกาหลีเหนือตั้งแต่ที่มีอายุยังน้อย คือ ไม่ถึง 30 ปี ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสุขุมรอบคอบและวุฒิภาวะที่ยังมีไม่มากนักของคิม จอง อึน สมควรเป็นสิ่งที่สหรัฐฯและเกาหลีใต้ไม่อาจ มองข้ามได้

“ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งยวดที่คนหนุ่มอย่างคิม จอง อึน ซึ่งขาดทั้งประสบการณ์ ขาดความสุขุมในการอ่านเกมทางการเมืองระหว่างประเทศ และปราศจากวุฒิภาวะที่เพียงพอได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะการตัดสินใจเพียงชั่ววูบของคนหนุ่มซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ในมือผู้นี้ อาจนำมาซึ่งหายนะอันเลวร้ายเกินกว่าที่ใครจะคาดเดาได้” ศาสตราจารย์เดวิด คัง กล่าว

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า วิกฤตความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี และการแสดงความก้าวร้าวของรัฐบาลเปียงยางจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และสิ้นสุดลงในรูปแบบใด ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การปะทุของสงครามรอบใหม่หรือไม่

ท่าทีล่าสุดจากทั้งนักวิเคราะห์ทั้งในสหรัฐฯและโลกตะวันตก รวมถึงนักวิเคราะห์ในเกาหลีใต้ เองจะยังคงเชื่อมั่นว่า ความก้าวร้าวของเกาหลีเหนือเป็นเพียงแค่ “คำขู่” เพื่อหวังเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติเท่านั้น

แต่ในทางกลับกันต้องย้อนถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย “คิดผิด” เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครสามารฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ผู้นำหนุ่มของเกาหลีเหนืออย่างคิม จอง อึน จะไม่โจมตีเกาหลีใต้และสหรัฐฯด้วยอาวุธนิวเคลียร์ตามที่ประกาศไว้ และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งที่ทั่วโลกมองว่า เป็นเพียงการขู่ของเด็กหนุ่มธรรมดาๆอย่างคิม จอง อึน กลับกลายเป็น “เรื่องจริง” ขึ้นมา







กำลังโหลดความคิดเห็น