xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสูงอินเดียยกคำร้อง “โนวาร์ทิส” คนจนเฮได้ใช้ยามะเร็งราคาถูกต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ศาลสูงสุดอินเดียมีคำพิพากษา ปฏิเสธคำร้องขอจดสิทธิบัตรคุ้มครองยารักษามะเร็งของบริษัทโนวาร์ทิส เหล่านักเคลื่อนไหวพากันแซ่ซ้องเป็นการปกป้องช่องทางเข้าถึงยาสามัญราคาถูกและรักษาชีวิตผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสแห่งนี้แสดงความผิดหวัง ระบุเป็นการบ่อนทำลายแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมเวชภัณฑ์เพื่อรักษาโรค

ภายหลังการต่อสู้ทางกฎหมายอันยาวนานถึง 7 ปี ในที่สุด ศาลสูงสุดแดนภารตะก็มีคำวินิจฉัยเมื่อวันจันทร์ (1) ว่า ส่วนประกอบของยารักษาโรคมะเร็ง “กลีเว็ก” (Glivec) ที่ โนวาร์ทิส บริษัทยายักษ์ใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์อ้างว่ามีการปรับปรุงใหม่เพื่อให้ร่างกายซึมซับได้เร็วขึ้นนั้น ยังคงไม่ผ่านเกณฑ์การเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ตามที่กฎหมายอินเดียกำหนดเอาไว้

ศาลยังยกคำร้องคราวนี้โดยระบุให้โนวาร์ทิสรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมูลค่าออกมาแต่อย่างใด และบริษัทยังสามารถยื่นคำร้องให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ กฎหมายอินเดียห้ามบริษัทยาได้จดสิทธิบัตรใหม่ ในกรณีที่สูตรยามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์เรียกขานกลวิธีแบบนี้ของพวกบริษัทยาว่า “evergreening” และคำวินิจฉัยนี้เท่ากับเปิดทางให้พวกผู้ผลิตยาชื่อสามัญ (generic name) ยังคงสามารถผลิตตัวยาซึ่งเลียนแบบกลิเว็คได้ต่อไป

คดีนี้เป็นที่จับตามองมากที่สุดในบรรดาการต่อสู้ทางกฎหมายหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในอินเดีย เนื่องจากถูกมองว่า มีผลกระทบอย่างกว้างไกลในการกำหนดขอบเขตการคุ้มครองสิทธิบัตรสำหรับบริษัทเวชภัณฑ์นานาชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในพวกตลาดที่มีอนาคต เฉกเช่นตลาดกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ๆ อย่างอินเดีย
บริษัทโนวาร์ทิส บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์
ลีนา เมงกานีย์ ทนายความของมูลนิธิการกุศลทางการแพทย์ “แพทย์ไร้พรมแดน” (เอ็มเอสเอฟ) กล่าวว่า คำตัดสินในคดีนี้ถือเป็นการปลดแอกครั้งยิ่งใหญ่และจะช่วยชีวิตผู้คนมากมายไม่เฉพาะในอินเดีย แต่รวมถึงในโลกกำลังพัฒนาทั้งหมด

เอ็มเอสเอฟแจงว่า กลิเว็กที่มักเรียกขานกันว่า “ยามหัศจรรย์” จากการปฏิวัติการรักษาโรคลูคีเมียนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้ในการรักษาตัวจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่หากเป็นเวอร์ชันยาชื่อสามัญที่มีจำหน่ายในอินเดียจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 73 ดอลลาร์เท่านั้น

ทางด้านโนวาร์ทิสซึ่งรายงานว่า ในปีที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 9,600 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 56,700 ล้านดอลลาร์นั้น ได้แถลงแสดงความผิดหวัง โดยกล่าวว่าคำวินิจฉัยเช่นนี้เป็นการทำลายการคิดค้นนวัตกรรมยาเพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นสูง

อย่างไรก็ดี รันจิต ชาฮานี รองประธานและกรรมการผู้จัดการโนวาร์ทิส อินเดียเสริมว่า จะยังคงยื่นคำร้องขอจดสิทธิบัตรในอินเดียต่อไป

คำพิพากษาของศาลสูงสุดอินเดียคราวนี้ เป็นการยืนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ปฏิเสธการให้การคุ้มครองโนวาร์ทิสในปี 2009 โดยให้เหตุผลว่า รูปแบบแก้ไขปรับปรุงของกลิเว็คสูตรใหม่ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรในเกือบ 40 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนด้วยนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากเวอร์ชันแรกอะไรนัก

ก่อนหน้านี้ ในปี 2007 ศาลสูงในเมืองเจนไน (มัทราส) ประเทศอินเดีย ยังปฏิเสธคำร้องของโนวาร์ทิสเช่นกัน

อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียในปัจจุบัน เป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตซึ่งกลายเป็นซัปพลายเออร์ที่ผลิตและส่งออกยาลอกเลียนยารักษาโรคราคาแพงๆ ทั้งที่ใช้รักษา มะเร็ง วัณโรค และเอดส์ ให้แก่พวกผู้ป่วยในโลกกำลังพัฒนาที่ไม่มีกำลังซื้อยาต้นแบบที่มีแบรนด์และราคาแพงลิ่ว

ประมาณการกันว่า อุตสาหกรรมยาลอกเลียนแบบของอินเดีย คือผู้ที่ซัปพลายยาชื่อสามัญจำนวน 1 ใน 5 ของทั่วโลก

พวกผู้ผลิตยาระดับโลกต่างลงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียบั่นทอนแรงจูงใจทางการค้าในการผลิตยาล้ำสมัย และโนวาร์ทิสเคยขู่ว่า อาจหยุดการเปิดตัวยาใหม่ๆ ในประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ยังคงใหญ่เกินกว่าจะมองข้ามได้ โดยคาดว่าจะมียอดขายถึง 74,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 พุ่งพรวดจากระดับ 11,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น