เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) เจ้าของกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ เผยในวันจันทร์ (1) โดยระบุ มีความจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 32,250 ล้านบาท) เพื่อให้บริษัทอยู่รอด เพราะต้องแบกรับภาระในการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยและค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีมหาศาล หลังจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหวระดับ 9.0 และการซัดถล่มของคลื่นสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011
คำแถลงซึ่งอ้างรายงานผลการดำเนินงานของเท็ปโกระบุ ทางบริษัทมีความจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวเพื่อความอยู่รอด และสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงินขององค์กร แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า แผนตัดลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะครอบคลุมถึงการปลดพนักงานของบริษัทออกด้วยหรือไม่
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเจ้าของกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิมีขึ้นหลังมีการคาดการณ์ว่า เท็ปโกอาจมีผลประกอบการที่ขาดทุนสูงถึง 120,000 ล้านเยน (ราว 37,470 ล้านบาท) ในปีการเงินที่สิ้นสุดไปเมื่อ 31 มีนาคม
ขณะที่การประเมินเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วระบุว่า ทางบริษัทต้องใช้เงินกว่า 10 ล้านล้านเยน (ราว 3.1 ล้านล้านบาท) ในการแก้ปัญหาที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น
เมื่อปีที่แล้วทางบริษัทจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโตเกียวกว่า 1 ล้านล้านเยน แลกกับการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเข้ามาควบคุมกิจการ หลังทางบริษัทไม่อาจแบกรับภาระในการเยียวยาประชาชนหลายพันครอบครัวที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนโดยรอบเพราะการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ที่ถือเป็นอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของญี่ปุ่น และถือเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของโลกนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลในยูเครนเมื่อปี 1986 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ข้อมูลของทางการญี่ปุ่นคาดว่พิบัติภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา ไดอิจิ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ พื้นดิน และทะเล คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 10 ของการรั่วไหลที่เกิดขึ้นที่เชอร์โนบิล และต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการกำจัดการปนเปื้อนดังกล่าว