xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯส่งเครื่องบินปีกค้างคาว B-2 เยือนคาบสมุทรเกาหลี-อ้างภารกิจ “การทูต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-2 สปิริต ระหว่างลงจอดที่ฐานทัพอากาศไวท์แมน มลรัฐมิสซูรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี 2011 (แฟ้มภาพ)
รอยเตอร์ - แม้จะเคยถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจทั้งในสงครามอิรักและลิเบีย ทว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดชนิดหลบหลีกเรดาร์ “บี-2 สปิริต” ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในยุทธศาสตร์การบริหารประเทศของสหรัฐฯบ่อยนัก

อย่างไรก็ดี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(28) วอชิงตันกลับส่งเจ้าเครื่องบินปีกค้างคาวที่สามารถติดอาวุธนิวเคลียร์ได้ 2 ลำไปเหาะเหินเหนือน่านฟ้าเกาหลีใต้ เพื่อทำในสิ่งที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯอ้างว่าเป็นภารกิจบิน “ทางการทูต”

การส่งเครื่องบิน บี-2 เข้าไปบนคาบสมุทรเกาหลีมีวัตถุประสงค์ 2 ชั้น คือ 1) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในยามที่ถูกเกาหลีเหนือขู่โจมตีแทบไม่เว้นวัน และ 2) เพื่อกระตุ้นให้โสมแดงยอมอ่อนน้อม และกลับเข้าสู่วงเจรจาลดอาวุธ

คิม จอง อึน ผู้นำหนุ่มเกาหลีเหนือ จะตีความสัญญาณของสหรัฐฯไปในทางใดก็สุดจะรู้ได้ แต่ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแรกของเขาก็คือ สั่งให้หน่วยขีปนาวุธเตรียมพร้อมโจมตีสหรัฐฯและเกาหลีใต้ได้ทันทีที่มีคำสั่ง

เจ้าหน้าที่อาวุโสของวอชิงตันคนหนึ่งให้ความเห็นว่า อดีตผู้นำ คิม จอง อิล ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปลายปี 2011 ยังเดาทางได้ง่ายกว่าบุตรชาย เพราะใช้การข่มขู่ดึงความสนใจจากทั่วโลกเพื่อนำไปสู่การเจรจาทางการทูต โดยไม่เผชิญหน้าอย่างจริงจัง แต่ในกรณีของ คิม จอง อึน นักวิเคราะห์ข่าวกรองของสหรัฐฯกลับมีความเห็นแตกต่างกันไป และยังไม่มั่นใจว่า เขาจะใช้ยุทธศาสตร์เดียวกับบิดาหรือไม่

แม้ บี-2 ซึ่งผลิตโดยค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่ นอร์ธร็อป กรัมแมน และใช้งานในกองทัพสหรัฐฯมานานถึง 20 ปี จะคุ้นเคยกับภารกิจบินระยะไกลสูงสุดถึง 44 ชั่วโมงเท่าที่มีบันทึกไว้ แต่ภารกิจเมื่อ 2 วันก่อนนับเป็นครั้งแรกสำหรับการบินต่อเนื่องเฉลี่ย 37 ชั่วโมงครึ่งไปและกลับ ระหว่างฐานทัพอากาศไวท์แมนในมลรัฐมิสซูรีกับเกาหลีใต้

ในขณะที่เปียงยางขู่จะส่งขีปนาวุธไปโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ รวมถึงฐานทัพบนหมู่เกาะฮาวายและเกาะกวม ภารกิจ บี-2 ครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการแสดงให้ผู้นำโสมแดงเห็นว่า หากสหรัฐฯต้องการตอบโต้เกาหลีเหนือแล้วก็ไม่ยากลำบากแม้แต่น้อย

“นี่เป็นการให้ความมั่นใจกับเกาหลีใต้ว่า สรรพาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯสามารถเข้าถึงเกาหลีเหนือได้จากทุกที่ เราไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำที่ฐานทัพอากาศโอซานเสมอไป” ราล์ฟ คอสซา ประธานสถาบันวิจัย แปซิฟิก ฟอรัม ซีเอสไอเอส ซึ่งมีฐานอยู่ในมลรัฐฮาวาย กล่าว

“นอกจากนี้ จีนก็จะได้ตระหนักด้วยว่า พฤติกรรมก้าวร้าวของเกาหลีเหนือจะต้องได้รับผลสนอง และแม้สหรัฐฯจะถือเอาคำขู่ของเกาหลีเหนือเป็นเรื่องจริงจัง แต่เรามิได้หวาดผวาแม้แต่น้อย”

เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อภารกิจซ้อมรบภายใต้รหัส “โฟล อีเกิล” ลุล่วง ประธานาธิบดี บารัค โอบามา หวังว่าจะสามารถฟื้นการเจรจาทางการทูตกับเกาหลีเหนือ และหวังว่ารัฐบาลโสมแดงจะยอมร่วมมือโดยดี



กำลังโหลดความคิดเห็น