เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิตหรือ “อีไอยู” ในเครือนิตยสารวิเคราะห์ข่าวชื่อดัง “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน ระบุสวิตเซอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ดีที่สุดสำหรับ “การเกิด” ในปี 2013 ส่วนประเทศไทยครองอันดับที่ 50 ของโลก และอันดับที่ 11 ของเอเชีย
ผลสำรวจล่าสุดของอีไอยูที่มีการเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (16) ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ครองแชมป์ในฐานะดินแดนที่ดีที่สุดสำหรับการถือกำเนิดในปีหน้า โดยสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีประชากรเพียง 8 ล้านคน และมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลกในแง่ของจีดีพี ได้คะแนนทั้งสิ้น 8.22 คะแนนจากเต็ม 10 ตามมาด้วยออสเตรเลีย (8.12), นอร์เวย์ (8.09), สวีเดน (8.02) และเดนมาร์ก (8.01) ใน 5 อันดับแรก
ส่วนสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงครองอันดับที่ 6-10 โดยได้คะแนนลดหลั่นกันลงมา ระหว่าง 8.00 จนถึง 7.80 ตามลำดับ
ขณะที่สหรัฐอเมริกา ชาติอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกครองอันดับที่ 16 ร่วมกับเยอรมนี ดินแดนที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปโดยสหรัฐฯและเยอรมนีต่างได้คะแนนที่ 7.38 เท่ากัน ส่วนไนจีเรียที่ได้อันดับที่ 80 ถูกระบุเป็นดินแดนที่เหมาะสมต่อการเกิดน้อยที่สุดของโลกจากการได้เพียง 4.74 คะแนน ตามมา คือ เคนยา ยูเครน บังกลาเทศ แองโกลา ปากีสถาน คาซัคสถาน ซีเรีย รัสเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาเฉพาะทวีปเอเชียแล้ว สิงคโปร์ซึ่งได้อันดับที่ 6 ของโลก ถูกยกให้เป็นสถานที่เกิดที่ดีที่สุดของเอเชีย ตามมาด้วยเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (อันดับ 10 ของโลก), ไต้หวัน (อันดับ 14 ของโลก), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อันดับ 18 ของโลก), เกาหลีใต้ (อันดับ 19 ของโลก), คูเวต (อันดับ 22 ของโลก), ญี่ปุ่น (อันดับ 25 ของโลก), มาเลเซีย (อันดับ 36 ของโลก), ซาอุดีอาระเบีย (อันดับ 38 ของโลก), จีน (อันดับ 49 ของโลก) และไทย (อันดับ 50 ของโลก) ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งถูกจัดให้เป็นดินแดนที่เหมาะสมสำหรับการเกิดเป็นอันดับที่ 50 ของโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของเอเชียนั้น ได้คะแนนจากการประเมินของทีมผู้เชี่ยวชาญของ “ดิ อีโคโนมิสต์” ทั้งสิ้น 5.96 คะแนน เฉือนเอาชนะตุรกีที่ได้ 5.95 คะแนนอย่างหวุดหวิด โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญของไทย คือ ปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน
โรบิน บิว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ “ดิ อีโคโนมิสต์” ระบุว่า ผลการสำรวจดังกล่าวได้จากการประเมินศักยภาพของ 80 ประเทศทั่วโลกต่อตัวแปรต่างๆ รวม 11 ด้าน เช่น ความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนในประเทศต่อรัฐบาลของตัวเอง ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สัดส่วนประชากรที่มั่งคั่งร่ำรวย สถิติการเกิดอาชญากรรม คุณภาพชีวิตของครอบครัว เป็นต้น ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดที่ 8.22 คะแนน