เอเจนซีส์ - ไซปรัสดิ้นหาทางออกวิกฤตสภาพคล่อง ภายหลังสภาคว่ำแผนการจัดเก็บภาษีเงินฝากตามเงื่อนไขปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินของ อียู/อีซีบี/ไอเอ็มเอฟ โดยรัฐบาลส่งขุนคลังไปทาบทามความช่วยเหลือจากรัสเซีย ขณะประธานาธิบดีนัดประชุมฉุกเฉินกับผู้นำพรรคและตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้ ทางด้านผู้สังเกตการณ์ชี้ปัญหาเร่งด่วนคือ เมื่ออนุญาตให้แบงก์กลับมาเปิดให้บริการในวันพฤหัสบดี (21) ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการแห่ถอนเงิน และกระตุ้นวิกฤตยูโรโซนเดือดพล่านอีกครั้งหรือไม่ ขณะที่ยูโรโซนก็ขู่ว่าถ้ายังตกลงอะไรกันไม่ได้ จะยุติการอัดฉีดเงินสดให้พวกแบงก์ไซปรัสตั้งแต่วันศุกร์นี้ (22)
ในวันพุธ (20) ประธานาธิบดีนิคอส อนาสตาเซียเดส ของไซปรัส เรียกประชุมผู้นำพรรคต่างๆ ตลอดจนผู้ว่าการธนาคารกลาง และตัวแทนจาก “ทรอยกา” ผู้เป็นเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อหาทางออกวิกฤตที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดของประเทศเกาะแห่งนี้ ภายหลังถูกกองทัพตุรกีบุกรุกรานในปี 1974
การประชุมดังกล่าวที่มีขึ้น 1 วันหลังจากสมาชิกรัฐสภาไซปรัสโหวตคัดค้านมาตรการเก็บภาษีเงินฝาก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทรอยกากำหนดไว้ในการให้เงินกู้มูลค่า 10,000 ล้านยูโร ทั้งนี้เรื่องหนึ่งที่จะต้องตัดสินใจเร่งด่วนที่สุด คือ จะอนุญาตให้บรรดาธนาคารเปิดทำการตามกำหนดเดิมในวันพฤหัสบดีและศุกร์ (21-22) นี้หรือไม่ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ประชาชนจะแห่ถอนเงิน กระทั่งฉุดภาคการธนาคารล่มจม และปลุกวิกฤตยูโรโซนที่สงบมาระยะหนึ่งกลับมาออกฤทธิ์อีกครั้ง หรือว่าจะให้แบงก์ปิดต่อจนถึงสัปดาห์หน้า ด้วยความหวังว่า รัฐบาลจะหาทางออกได้สำเร็จแล้ว
ธนาคารของไซปรัสนั้นประสบปัญหาเนื่องจากปล่อยกู้จำนวนมากให้แก่กรีซที่ประสบวิกฤตรุนแรงก่อนหน้านี้ และหากไม่สามารถหาเงินกู้ได้ อาจส่งผลให้ไซปรัสล้มละลาย ผิดนัดชำระหนี้ และหลุดออกจากยูโรโซน
ภายใต้เงื่อนไขพ่วงเงินกู้ของทรอยกา ซึ่งได้มีการผ่อนปรนลงมาระดับหนึ่งแล้วนั้น ไซปรัสจะต้องจัดเก็บภาษีแบบครั้งเดียวสำหรับเงินฝากก้อนใหญ่สูงถึง 10% แต่ยกเว้นสำหรับเงินฝากมูลค่าต่ำกว่า 20,000 ยูโร ภาษีนี้จะทำให้ไซปรัสระดมเงินได้ 5,800 ล้านยูโร ทว่าในเมื่อรัฐสภาลงมติในวันอังคาร โดยที่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเลยแม้แต่เสียงเดียว ไซปรัสจึงต้องหาทางใหม่เพื่อหาเงินมาชำระหนี้
ในสภาพที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างผู้นำยูโรโซนที่เรียกร้องเงื่อนไขเข้มงวดสำหรับเงินกู้ กับพันธมิตรรัสเซีย ประกอบกับถูกสภาปฏิเสธ ไซปรัสจึงพยายามหาทางออกอย่างนุ่มนวล ด้วยการหันไปพึ่งแดนหมีขาว ซึ่งเป็นที่มาของเงินฝากปริมาณระหว่าง 1 ใน 3 จนถึงครึ่งหนึ่งในธนาคารต่างๆ ของไซปรัส หรือคิดเป็นมูลค่าราว 31,000 ล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุนี้ในช่วงคืนวันอังคาร (19) หลังจากสภาคว่ำข้อเสนอเก็บภาษีเงินฝาก อนาสตาเซียเดสได้โทรศัพท์หารือกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย
พร้อมกันนั้น อนาสตาเซียเดสยังส่งมิคาลิส ซาร์ริส รัฐมนตรีคลังเดินทางไปมอสโกเพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียช่วยเหลือ รวมทั้งขอให้ขยายกำหนดเวลาชำระหนี้ 2,500 ล้านยูโรในปี 2016 ออกไปอีก 5 ปี และลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม หลังจากหารือกับฝ่ายมอสโกอยู่ 2 รอบ ซาร์ลิส ได้ออกมาแถลงยอมรับว่าประสบความล้มเหลว ไม่สามารถตกลงกับรัสเซียได้
ทางเลือกอื่นๆ ของไซปรัสนอกเหนือจากนี้คือ ยึดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐและสถาบันกึ่งรัฐให้ตกเป็นของรัฐบาล และนำออกมาระดมทุนซึ่งคาดว่าจะได้เงินราว 3,000 ล้านยูโร
อีกทางเลือกหนึ่งคือลดขนาดภาคการธนาคารด้วยการผนวกแบงก์ใหญ่สุด 2 แห่ง เพื่อให้วงเงินที่จำเป็นในการเพิ่มทุน มีขนาดลดลง
ขณะเดียวกัน อาร์กบิชอป ไครโซสโทมอสที่ 2 ประมุขนิกายออร์โธดอกซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่สุดในไซปรัส อีกทั้งยังถือหุ้นในธุรกิจมากมาย รวมถึงเฮลเลนิก แบงก์ที่คาดว่ามีทรัพย์สินราว 10,000 ล้านยูโร ได้เสนอช่วยเหลือประเทศด้วยการนำสินทรัพย์ออกขาย
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาของประเทศยูโรโซนผู้ขอความช่วยเหลือ ปฏิเสธเงื่อนไขเพื่อรับความช่วยเหลือจากอียู หลังจากตลอดสามปีที่ผ่านมา รัฐสภาของกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี ต่างต้องยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดเพื่อรับเงินกู้
กระนั้น อียูมีธรรมเนียมในการกดดันให้ประเทศขนาดเล็กๆ โหวตใหม่จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
มาเรีย เฟกเตอร์ รัฐมนตรีคลังออสเตรียกล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับไซปรัส ทว่า อีซีบีจะไม่อัดฉีดเงินให้พวกแบงก์ไซปรัสอีกต่อไปนับจากวันศุกร์นี้ ยกเว้นสามารถตกลงข้อเสนอเงินกู้กันได้เท่านั้น