เอเจนซีส์ - รัฐสภาไซปรัสเลื่อนออกไปอีก 1 วันเป็นวันอังคาร (19) วาระลงมติเก็บภาษีเงินฝากธนาคาร เพื่อปฏิบัติให้เป็นตามข้อกำหนดรับเงินกู้ช่วยเหลือไม่ให้ล้มละลายจากอียู มูลค่า 10,000 ล้านยูโร ขณะที่พวกรัฐมนตรีของชาติยูโรโซนเล็กๆ รายนี้พยายามเจรจาต่อรองเพื่อขอให้เจ้าหนี้ผ่อนปรนเงื่อนไข ซึ่งกำลังก่อกระแสความหวาดวิตกไปทั่วยูโรโซน ฉุดหุ้นทั่วโลกตก และเงินยูโรอ่อนยวบ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16) ไซปรัสและเจ้าหนี้ระหว่างประเทศอันประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตกลงกันได้ที่จะให้เงินกู้ 10,000 ล้านยูโร (13,000 ล้านดอลลาร์) แก่ไซปรัสเพื่อช่วยให้ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลาย โดยมีเงื่อนไขว่า ประเทศเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ต้องเรียกเก็บภาษีเงินฝากทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้หากเป็นเงินฝากต่ำกว่า 100,000 ยูโรจะถูกเรียกเก็บภาษี 6.75% และ 9.9% สำหรับเงินฝาก 100,000 ยูโรขึ้นไป
ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของประชาชนชาวไซปรัสและต่างชาติโดยเฉพาะรัสเซียที่มีเงินฝากจำนวนมากอยู่ในประเทศนี้ ตลอดจนความวิตกกังวลในตลาดการเงินทั่วโลก ประธานรัฐสภา ยีอานนาคิส โอมิราว แถลงในวันจันทร์ (18) ว่า วาระการพิจารณาของรัฐสภาว่าจะรับรองข้อตกลงกู้เงินนี้หรือไม่ ซึ่งเดิมจะมีขึ้นในตอนบ่ายวันจันทร์นั้น จะเลื่อนไปเป็นตอน 18.00 น.วันอังคาร (ตรงกับ 23.00 น.วันอังคาร เวลาเมืองไทย) ทั้งนี้พวกผู้นำพรรคต่างๆ ที่มีผู้แทนในรัฐสภาต่างเห็นชอบเรื่องนี้ ภายหลังได้รับฟังการบรรยายสรุปจากประธานาธิบดีนิคอส อนาสตาเซียเดส
มีรายงานว่า พวกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบหลายๆ คนของไซปรัสกำลังพยายามวิ่งวุ่นต่อรอง เพื่อให้เงินฝากธนาคารที่ไม่เกิน 100,000 ยูโร ไม่ถูกเก็บภาษี แต่ส่วนที่เกิน 100,000 ยูโรจะถูกเก็บสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดทอนผลกระทบที่จะมีต่อผู้ฝากเงินรายย่อย
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของอีซีบีก็แสดงท่าทีโอนอ่อนยืดหยุ่น หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังคงทำให้ได้เงินภาษีเงินฝากธนาคารในไซปรัสในระดับประมาณ 6,000 ล้านยูโรตามเดิม
จอร์ก อัสมุสเสน กรรมการกำหนดนโยบายคนหนึ่งของอีซีบี ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการเจรจาต่อรองกับไซปรัสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเบอร์ลินว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไซปรัสเองว่าต้องการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีเงินฝากอย่างไร ตราบเท่าที่ยังคงได้เงินภาษีเงินฝากในระดับที่ตกลงกันไว้
พวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศมีความวิตกกังวลว่า หากรัฐสภาไซปรัสลงมติไม่รับรองข้อตกลงเงินกู้นี้แล้ว เขตยูโรโซนก็มีหวังจะถูกดึงลากกลับลงสู่วิกฤตอีกคำรบหนึ่ง
ทั้งนี้ พวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศต้องการให้ไซปรัสจัดเก็บภาษีเงินฝาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยบังคับใช้กับพวกชาติยูโรโซนที่ต้องขอเงินกู้เช่นนี้รายก่อนๆ ก็เพื่อจะได้ลดยอดเงินกู้ที่จะต้องปล่อยให้ไซปรัสลง
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ชาวไซปรัสเสียขวัญและเดือดดาลว่าทำไมประเทศของตนจึงต้องเสียเปรียบถึงขนาดนี้ ส่วนตลาดการเงินทั่วโลกก็กังวลว่า ในเวลาต่อไปเงื่อนไขเช่นนี้อาจจะถูกนำมาใช้บังคับกับพวกชาติยูโรโซนที่ประสบปัญหารายเดิมๆ เป็นต้นว่า สเปน และอิตาลี ซึ่งมีหวังจะเป็นการปลุกวิกฤตหนี้ยูโรปโซนให้กลับมาอาละวาดกันใหม่
ตลาดหุ้นหลักของยุโรปในช่วงเช้าวันจันทร์ตกกว่า 1% เช่นเดียวกับหุ้นเอเชียที่ร่วงแรงจากข่าวไซปรัส
ที่เอเชียวันแรกของสัปดาห์ เงินยูโรร่วงเหลือ 121.77 เยน จาก 124.61 เยนคืนวันศุกร์ (15) ที่ตลาดนิวยอร์ก และเทียบกับเงินตราสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.2902 ดอลลาร์ จาก 1.3075 ดอลลาร์
ข่าวภาษีเงินฝากไซปรัสยังเรียกเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียว่า “ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นมืออาชีพ และอันตราย”
นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจว่า อียูจะไม่ต้องจ่ายเงินเป็นพันล้านเพื่ออุ้มเศรษฐีรัสเซีย ที่เชื่อกันว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นสวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษีและการไม่เข้มงวดกับ “เงินสกปรก” ของไซปรัส
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ประเมินว่า ปัจจุบัน เศรษฐีรัสเซียฝากเงินสดในไซปรัสถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ใน 3 จนถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าเงินฝากทั้งหมดในไซปรัส
คืนวันอาทิตย์ (17) ประธานาธิบดีอนาสตาเซียเดส แถลงว่า มาตรการเก็บภาษีเงินฝากเป็นทางเลือกที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และสำทับว่า การปฏิเสธข้อเรียกร้องอียู อาจส่งผลให้ไซปรัสต้องถอนตัวจากยูโรโซนและล้มละลาย
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนชาวไซปรัสจะไม่ไว้ใจในสถานการณ์ โดยมีรายงานว่า ประชาชนมากมายพากันไปถอนเงินสดตั้งแต่วันเสาร์ (16) ซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดสุดสัปดาห์พิเศษ 3 วัน และบริการโอนเงินออนไลน์ถูกระงับ อย่างไรก็ดี ลูกค้ายังสามารถใช้บัตรเครดิตในซูเปอร์มาร์เกต และสถานีบริการน้ำมันได้