เอเอฟพี - รัฐบาลอังกฤษพยายามโน้มน้าวให้สหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกนโยบายปิดล้อมด้านอาวุธ (arms embargo) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ยุโรปไม่สามารถส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียได้
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอียูจะร่วมการประชุมเพื่อหารือกันในวันนี้ (18) ความเห็นต่างภายในอียูเกี่ยวกับประเด็นการส่งอาวุธช่วยกบฏซีเรียก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแม้จะถกเถียงกันมานานหลายสัปดาห์ โดยนักการทูตยุโรปเผยว่า การเจรจาที่ผ่านมาทั้ง “ยุ่งยาก” และ “เต็มไปด้วยความขัดแย้ง”
มาตรการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบที่อียูประกาศใช้กับซีเรีย ซึ่งรวมไปถึงการปิดล้อมด้านอาวุธเพื่อกดดันบรรดาคนสนิทของอัสซาด, องค์กรธุรกิจที่เป็นมิตรกับรัฐบาลดามัสกัส ตลอดจนอุตสาหกรรมน้ำมัน, การค้า และการเงินของซีเรีย กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งการจะต่ออายุบทลงโทษดังกล่าวจะต้องได้รับมติเอกฉันท์จากสมาชิกอียู
อังกฤษและฝรั่งเศสมองว่า เส้นตายวันที่ 1 มีนาคมถือเป็นโอกาสดีที่ยุโรปจะได้ตอบสนองข้อเรียกร้องด้านอาวุธจากฝ่ายกบฎซีเรีย แต่จนบัดนี้ฝรั่งเศสก็ยังคงสงวนท่าที และปล่อยให้อังกฤษเผชิญแรงต้านทั้งจากเยอรมนี, สวีเดน หรือแม้กระทั่งแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของอียูซึ่งเป็นผู้แทนลอนดอนในคณะกรรมาธิการยุโรป
สำนักงานของแอชตันระบุในจดหมายเวียนถึงรัฐสมาชิกว่า “การส่งอาวุธอาจช่วยให้เกิดสมดุลทางทหารก็จริง... แต่ก็อาจทำให้ซีเรียกลายเป็นรัฐทหาร ทำให้กลุ่มติดอาวุธแผ่ขยายเครือข่ายออกไป และเกิดปัญหาการสะสมอาวุธขึ้นในยุคหลังอัสซาด”
ทางเลือกอื่นๆ ที่ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ การใช้นโยบายปิดล้อมอาวุธเฉพาะกับรัฐบาลซีเรีย และให้สมาชิกแนวร่วมแห่งชาติซีเรียซึ่งเป็นองค์กรกลางของกบฎได้รับการยกเว้น หรือแก้ไขข้อตกลงคว่ำบาตรเพื่อให้สามารถส่งอาวุธบางประเภทเข้าไปปกป้องพลเรือนซีเรียได้
สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลองด์ แห่งฝรั่งเศส ออกมาค้านแนวคิดยกเลิกการปิดล้อมด้านอาวุธในขณะนี้ โดยชี้ว่าจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “เรามั่นใจแล้วว่า การเจรจาทางการเมืองเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป”
ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็เคยปฏิเสธที่จะส่งอาวุธให้กบฏซีเรียด้วยเหตุผลเดียวกัน