เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)รวมถึงนักวิเคราะห์ ระบุ องค์กรระดับโลกแห่งนี้จะต้องเจอกับอุปสรรคสำคัญยิ่งในซีเรีย ถ้าหากประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดถูกโค่นอำนาจ โดยหนึ่งในปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดของยูเอ็น คือ จุดยืนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของบรรดาชาติมหาอำนาจต่อสถานการณ์ในซีเรีย รวมถึงการที่ยังมองไม่เห็น “บุคคลที่เหมาะสม” ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของรัฐบาลดามัสกัสแทนที่อัสซาดได้
ทีมเจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเอ็นซึ่งนำโดย ยาน เอเลียสสัน รองเลขาธิการใหญ่ชาวสวีดิช วัย 71 ปีระบุว่า หนึ่งในทางออกที่มีความเป็นไปได้ คือ การนำเอาโมเดลของ “อัฟกานิสถาน” หลังการโค่นอำนาจกลุ่มตอลิบานมาใช้กับซีเรีย
เอเลียสสันระบุว่า หลังจากที่กองกำลังที่นำโดยทหารสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบการปกครองของนักรบตอลิบานเมื่อปี ค.ศ.2001ทางยูเอ็นก็ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยอนาคตของอัฟกานิสถานขึ้นที่เมืองบอนน์ในเยอรมนี ยังผลให้มีการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวในอัฟกานิสถาน และมีข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางการเงินต่ออัฟกานิสถานตามมามากกมาย ขณะที่กองกำลังนานาชาติก็จะยังคงมีบทบาทในการประคับประคองอัฟกานิสถานต่อไปในด้านความมั่นคง ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้อีกครั้งในซีเรียหากมีการโค่นล้ม “ระบอบอัสซาด”
อย่างไรก็ดี เอไมล์ โฮกาเย็ม นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางจากสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศในกรุงลอนดอนแย้งว่า โมเดลอัฟกานิสถาน ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับซีเรีย เนื่องจากในกรณีของอัฟกานิสถานนั้นบรรดาชาติมหาอำนาจต่างมีจุดยืนที่สอดคล้องกัน ผิดกับกรณีซีเรียที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างมีจุดยืนที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลดามัสกัสของบาชาร์ อัล อัสซาดมาตั้งแต่ต้น ส่วนรัสเซียและจีนก็คอยขัดขวางมาโดยตลอด โดยเฉพาะการที่ทั้งสองชาติใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ถึง 3 ครั้งในคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อขัดขวางสหรัฐฯและพันธมิตรในการลงโทษหรือแทรกแซงต่อซีเรีย ดังนั้น ความพยายามใดๆของยูเอ็นต่อซีเรีย หลังสิ้นยุคของอัสซาดจึงย่อมมิอาจดำเนินการได้โดยง่าย
“แม้อัสซาดจะถูกโค่นอำนาจ แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดมาการันตีได้ว่า บรรดาชาติมหาอำนาจของโลกจะหันมาจับมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างในกรณีอัฟกานิสถาน เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของซีเรีย” โฮกาเย็มกล่าว
ขณะที่แอนดรูว์ แท็บเลอร์ นักวิจัยอาวุโสแลผู้เชี่ยวชาญด้านซีเรียจากสถาบัน “นโยบายตะวันออกใกล้”ของสหรัฐฯ ระบุว่า ถึงแม้บาชาร์ อัล อัสซาดจะถูกโค่นอำนาจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ซีเรียจะกลับเข้าสู่ความสงบสุข เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่จะมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง ระหว่างกลุ่มต่อต้านฝ่ายต่างๆขณะเดียวกัน ในซีเรียเองก็ยังไม่มีบุคคลใดที่มีความเหมาะสมและได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ ดังนั้น ความพยายามของยูเอ็นในการสร้างเสถียรภาพในซีเรียหลังการโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาดจึงมิใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย
ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานในวันนี้ (30)ว่า รองผู้บัญชาการตำรวจในเมืองลาตาเกีย เมืองใหญ่ทางตะวันตกของซีเรียพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทางการอีก 11 นายได้แปรพักตร์และหลบหนีไปยังตุรกี พร้อมด้วยพลเรือนซีเรียอีกราว 600 คน ส่งผลให้จำนวนชาวซีเรียที่หลบหนีไปยังตุรกีล่าสุดเพิ่มเป็นกว่า 43,500 รายแล้ว