เอเจนซีส์ - คริสตจักรโรมันคาทอลิกเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศลาออกอย่างกะทันหัน โดยที่มีทั้งความเห็นมองโลกแง่ดีว่าอาจนำมาซึ่งยุคใหม่ของวาติกัน แต่ก็มีผู้ไม่พอใจการที่พระองค์ตัดสินพระทัยละทิ้งตำแหน่งไปง่ายๆ ขณะเดียวกัน เริ่มมีการมองถึงตัวเก็งโป๊ปองค์ต่อไปที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนหน้า โดยมีกระแสกดดันมากขึ้นให้เลือกตัวแทนจากพวกประเทศกำลังพัฒนา
สมเด็จพระสันตะปาปา ตรัสในที่ประชุมพระราชาคณะชั้นคาร์ดินัลที่สำนักวาติกันเมื่อวันจันทร์ (11) ว่าจะทรงลาออกจากตำแหน่งประมุขคริสตจักรคาทอลิกตั้งแต่วันที่ 28 เดือนนี้ เนื่องจากพระชนมายุที่มากขึ้นทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แผนการลาออกจากตำแหน่งของพระสันตะปาปาซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบระยะเวลา 700 ปี มีที่ปรึกษาเพียงไม่กี่คนที่รับรู้ล่วงหน้า ขณะที่ผู้นำมากมายในวาติกันไม่ระแคะระคายและช็อกไปตามๆ กัน
บาทหลวงเฟเดอริโก ลอมบาร์ดี โฆษกสำนักวาติกัน แถลงว่า การตัดสินพระทัยลาออกของพระสันตะปาปาเป็นความกล้าหาญอย่างสูงส่ง พร้อมยืนยันว่าพระองค์ไม่ได้ประชวรหรือมีอาการซึมเศร้าแต่อย่างใด โดยการตัดสินใจนี้มีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาและปราศจากแรงกดดันจากภายนอก
ทางด้านชาวคาทอลิกซึ่งมีจำนวนประมาณ 1,100 ล้านคนทั่วโลก มีความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานา บางคนออกมาบอกว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญซึ่งจะนำยุคใหม่มาสู่นิกายคาทอลิกที่กำลังเผชิญวิกฤตรอบด้าน รวมทั้งน่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าว่า พระสันตะปาปาองค์ต่อไปไม่ควรมีอายุมากนัก
ขณะที่บางคนแสดงความไม่พอใจที่ผู้นำศาสนจักรซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมของพระคาร์ดินัล อีกทั้งเห็นกันว่าได้รับแรงดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย จะมาตัดสินใจลาออกกันง่ายๆ เช่นนี้
ทั้งนี้ พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายก่อนหน้านี้ที่ทรงลาออกคือ พระสันตะปาปาเซเลสไทน์ที่ 5 ในปี 1294 หลังจากทรงได้รับเลือกเพียง 5 เดือน
สำหรับปฏิกิริยาของพวกผู้นำทั่วโลกต่อการลาออกของพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ปรากฏว่าอยู่ในทำนองเดียวกัน โดยต่างแถลงว่าเคารพการตัดสินพระทัยของพระสันตะปาปา และกล่าวยกย่องคำเทศนาที่ผ่านมาของพระองค์ โดยเฉพาะการที่พระองค์สนับสนุนการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนาต่างๆ
กระนั้นก็ตาม ระหว่างที่ทรงครองตำแหน่งอยู่เป็นเวลา 8 ปี ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของศาสนจักรคาทอลิก ก็ทำให้ เบเนดิกต์ที่ 16 ทรงมีศัตรูและมีพวกที่ไม่พอใจพระองค์ไม่ใช่น้อย จากการที่ทรงมีจุดยืนอนุรักษนิยมที่ไม่ประนีประนอมอย่างเด็ดขาดในประเด็นทางสังคมและเทววิทยา เช่น ไม่อนุญาตให้สตรีบวชเป็นบาทหลวง ต่อต้านการวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน แม้จะยอมผ่อนปรนบ้างในประเด็นการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคเอดส์ก็ตาม
พระองค์ยังต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศอย่างแข็งขัน ถึงแม้ตลอด 8 ปีที่ทรงเป็นประมุขวาติกัน ปรากฏว่า หลายประเทศยอมรับให้ชาวเกย์แต่งงานกันได้
เช่นเดียวกัน แม้พระองค์สั่งการให้มีการสอบสวนการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในไอร์แลนด์ อันนำไปสู่การลาออกของบาทหลวงระดับบิชอปจำนวนมาก แต่มีเสียงวิจารณ์หนาหูว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ยังทรงลงมือทำอะไรน้อยเกินไปเพื่อแก้ไขความผิดพลาดอันฉกาจฉกรรจ์ในเรื่องนี้ และมีส่วนในความล้มเหลวของศาสนจักรคาทอลิกที่จะหยุดยั้งกระแสการทิ้งศาสนาของชาวคริสต์ในตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป อีกทั้งพระองค์เองก็มิได้สนพระทัยที่จะทำการปฏิรูปศาสนจักร
พระสันตะปาปาจากเยอรมนีองค์แรกในรอบระยะเวลาราว 1,000 ปีพระองค์นี้ ยังทำให้ชาวมุสลิมโกรธกริ้วจากการที่พระองค์ทรงแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาสนาอิสลามกับความรุนแรง ขณะที่ชาวยิวหัวเสียกับพระดำรัสที่เหมือนรื้อฟื้นการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี มิหนำซ้ำภายในสำนักวาติกันเอง ยังถูกกระหน่ำด้วยเรื่องอื้อฉาว โดยพ่อบ้านประจำตัวพระสันตะปาปาถูกกล่าวหาว่า ลักลอบเปิดเผยเอกสารลับส่วนพระองค์ที่มีการกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันในการบริหารจัดการทางธุรกิจของวาติกันเมื่อปีที่แล้ว
สำนักวาติกันนั้นออกแถลงการณ์ว่า พระสันตะปาปาพระองค์นี้จะประทับอยู่ในที่พักฤดูร้อนในปราสาทกอนดอลโฟใกล้กรุงโรม ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเข้าสู่ส่วนอารามชั้นในของนครวาติกันหลังจากสละตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ภายหลังข่าวการสละตำแหน่งของเบเนดิกต์ที่ 16 แพร่ออกไปไม่กี่ชั่วโมง ในโรมก็มีการคาดการณ์ตัวเก็งพระสันตะปาปาองค์ต่อไปอย่างคึกคัก
สำหรับครั้งนี้ดูเหมือนสนามแข่งขันเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต บางคนมองว่าพระสันตะปาปาองค์ต่อไปควรเป็นชาวอิตาลี หลังจากเพิ่งร้างลาไปเมื่อปี 1978 บ้างก็ว่าถึงเวลาที่ประมุขศาสนจักรจะมาจากอเมริกาเหนือ แต่นอกจากนั้นยังมีแรงกดดันมากขึ้นให้วาติกันเลือกสันตะปาปาจากพวกประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า คาทอลิกกำลังเผยแผ่ออกไปอย่างรวดเร็วที่สุดในประเทศเหล่านิ้ ส่วนสายเสรีนิยมอยากได้โป๊ปที่เปิดกว้างรับการปฏิรูปมากขึ้น
สำนักวาติกันนั้นคาดหมายว่า จะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ก่อนช่วงเทศกาลอีสเตอร์ (วาระระลึกการฟื้นความความตายของพระเยซู) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม ถึงแม้การเลือกประมุขคริสตจักรคาทอลิกองค์ใหม่ ย่อมเป็นการตัดสินใจของที่ประชุมลับของเหล่าพระคาร์ดินัล โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมในแต่ละวัน หากที่ประชุมซึ่งเก็บตัวตัดขาดจากโลกภายนอก ยังไม่สามารถได้ตัวผู้ซึ่งได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของที่ประชุม ก็จะมีการจุดควันสัญญาณสีดำขึ้นสู่ฟากฟ้า และวันใดที่คณะพระคาร์ดินัลเลือกได้แล้ว จึงจะมีการส่งสัญญาณด้วยการจุดควันสีขาว