xs
xsm
sm
md
lg

กม.อเมริกันปูทางประธานาธิบดีสั่งโจมตีก่อนทางไซเบอร์สเปซได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - จากการตรวจสอบทางกฎหมายแบบปิดลับของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ประธานาธิบดีอเมริกันมีอำนาจที่จะสั่งให้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อศัตรู ตั้งแต่ก่อนที่อีกฝ่ายหนึ่งจะลงมือ หากพบหลักฐานบ่งชี้ว่ากำลังจะมีการโจมตีใหญ่ต่อเครือข่ายดิจิตอลของสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันจันทร์ (4 ก.พ.) ในอีกด้านหนึ่ง กระบอกเสียงของทางการจีนก็ได้ออกมาตอบโต้ข่าวของสื่ออเมริกัน โดยระบุว่าการที่พวกหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ของสหรัฐฯอ้างว่าแดนมังกรพยายามแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ของพวกเขานั้น เป็นเพียงข้ออ้างของวอชิงตันที่จะใช้ลัทธิกีดกันการค้า และลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนเท่านั้น

นิวยอร์กไทมส์อ้างเจ้าหน้าที่หลายรายที่ไม่เปิดเผยชื่อซึ่งเกี่ยวข้องในการทบทวนตรวจสอบดังกล่าวนี้ ระบุว่า จากข้อสรุปทางกฎหมายคราวนี้ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิธีการที่พวกหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ จะเข้าทำการตรวจค้นพวกเครือข่ายคอมพิวเตอร์นอกประเทศเพื่อค้นหาสัญญาณสิ่งบ่งชี้ในเรื่องที่อาจจะมีการเปิดการโจมตีสหรัฐฯ รวมทั้งถ้าหากได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดี ก็จะสามารถทำการโจมตีศัตรูแบบทำลายล้าง แม้ยังไม่มีการประกาศสงครามก็ตามที

การตรวจสอบทบทวนทางกฎหมายคราวนี้ บังเกิดขึ้นขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้อนุมัติการขยายกำลังพลของกองบัญชาการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้นเป็นกว่า 5 เท่าตัวภายในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้ นั่นคือ จากราว 900 คนในปัจจุบัน เป็นประมาณ 4,900 คน โดยที่จะมีทั้งทหารและพลเรือน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการปกป้องบรรดาเครือข่ายคอมพิวเตอร์อันสำคัญยิ่งของประเทศ

ภัยคุกคามทางไซเบอร์กำลังเพิ่มความรุนแรงสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากการโจมตีที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายระลอก รวมทั้งครั้งที่มีการใช้ไวรัสลบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์กว่า 30,000 เครื่องของบริษัทน้ำมันซาอุดีอาระเบียเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว

จากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ จอห์น เบรนแนน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทำเนียบขาว ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) คนใหม่ คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบายของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เกี่ยวกับสงครามไซเบอร์

นิวยอร์กไทมส์ยังระบุว่า เป็นที่ทราบกันว่า ที่ผ่านมาโอบามาได้เคยอนุมัติการใช้อาวุธไซเบอร์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเขาออกคำสั่งให้เพิ่มระดับการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโรงงานเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยปฏิบัติการดังกล่าวที่ใช้ชื่อรหัสว่า โอลิมปิกเกมส์ ได้เริ่มต้นขึ้นภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯตั้งแต่สมัยที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ยังเป็นประธานาธิบดีแล้ว

รายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์กล่าวว่า การโจมตีอิหร่านคราวนั้นสะท้อนให้เห็นว่า สามารถทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้โดยไม่ต้องใช้ระเบิดหรือการส่งผู้ก่อวินาศกรรมเข้าไปแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกันคนหนึ่งบอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบทางกฎหมายวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วว่า อาวุธทางไซเบอร์นั้นทรงพลังพอๆ กับอาวุธนิวเคลียร์ และด้วยเหตุนี้จึงควรนำมาใช้ได้ต่อเมื่อมีคำสั่งโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งก็คือประธานาธิบดี เท่านั้น

นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่า กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ประเทศต่างๆ สามารถป้องกันตนเองได้หากถูกคุกคาม และสหรัฐฯก็นำเอาแนวความคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการวางนโยบายเกี่ยวกับการเปิดการโจมตีตั้งแต่ก่อนที่ศัตรูจะลงมือ

ทั้งนี้ นโยบายใหม่ๆ ที่กำหนดกันออกมา ถ้าหากเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ธรรมดาๆ ต่อพวกบริษัทหรือปัจเจกบุคคลชาวอเมริกันแล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับให้การคุ้มครองป้องกันด้วย โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ นิวยอร์กไทมส์ระบุพร้อมกับกล่าวต่อไปว่า กระทรวงกลาโหมซึ่งก็คือฝ่ายทหาร จะเข้าเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อเป็นกรณีการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ๆ ภายในสหรัฐฯ

ในวันจันทร์เช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เผยแพร่บทความโต้แย้งรายงานของนิวยอร์ก ไทมส์และวอลล์สตรีท เจอร์นัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีการโยงปักกิ่งเข้ากับการโจมตีทางไซเบอร์ต่อหนังสือพิมพ์เหล่านี้ รวมทั้งการที่วอชิงตัน โพสต์ กล่าวหาตรงไปตรงมาว่า แฮ็กเกอร์จีนมีเป้าหมายโจมตีตน

ทั้งนี้ นิวยอร์กไทมส์ รายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า แฮ็กเกอร์ได้ขโมยรหัสผ่านขององค์กร และเจาะเข้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของพนักงานของตน 53 คน หลังจากนิวยอร์กไทมส์รายงานเกี่ยวกับข่าวทรัพย์สินความมั่งมีของครอบครัวนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า

พวกนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงบางคนชี้ว่า การโจมตีต่อสื่ออเมริกันเช่นนี้ อาจเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในปักกิ่ง ขณะที่บางคนแย้งว่ายากที่จะสืบเสาะชัดเจนว่า การโจมตีดังกล่าวมาจากจีนหรือแฮ็กเกอร์ลงมือตามใบสั่งจากปักกิ่ง

กระนั้น รายงานเหล่านั้นก็กำลังตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับการเจาะข้อมูลของจีน ซึ่งจากรายงานของรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วระบุว่า นิติบุคคลที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลจีนมีทักษะมากขึ้นในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของอเมริกา และจีนเป็น “ผู้ก่อการคุกคามร้ายแรงที่สุดในไซเบอร์สเปซ”

ทว่า บทความหน้าหนึ่งของเหรินหมินรึเป้าภาษาจีนฉบับวันจันทร์ระบุว่า “แม้แต่คนที่เข้าใจอินเทอร์เน็ตเพียงผิวเผินยังทราบว่า การโจมตีโดยพวกแฮ็กเกอร์นั้นมีลักษณะเป็นการดำเนินการข้ามประเทศและสามารถปกปิดอำพรางได้ ลำพังที่อยู่ไอพีไม่ได้เป็นหลักฐานหนักแน่นพอที่จะยืนยันต้นทางของแฮ็กเกอร์ได้”

บทความชิ้นนี้ยังกล่าวหาว่า วอชิงตันโหมกระพือความกลัวจีนโดยตราหน้าว่าจีนเป็นแฮ็กเกอร์ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับลัทธิกีดกันการค้าและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน ตลอดจนการใช้ยุทธศาสตร์มุ่งปิดล้อมควบคุมจีน

เหรินหมินรึเป้ายังตอกย้ำจุดยืนของปักกิ่งว่า จีนเองก็ตกเป็นเป้าหมายการเจาะระบบเช่นเดียวกัน โดยในเดือนธันวาคมมีการโจมตีระบบของจีนจากที่อยู่ไอพีในอเมริกามากกว่าจากประเทศอื่นใด

“กระนั้น จีนไม่ได้ด่วนสรุปเกี่ยวกับที่มาของการโจมตีเหล่านั้นเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น