xs
xsm
sm
md
lg

โอบามารีบรุดกลับทำเนียบขาว ถกผ่าทางตัน “หน้าผาการคลัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอบามากลับมาหาทางสกัดกั้น หน้าผาการคลัง – ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ โบกมือขณะกำลังออกจากสนามบินในมลรัฐฮาวายเมื่อวันพุธ(26) โอบามาตัดลดการหยุดพักผ่อนช่วงเทศกาลคริสตมาสของตน และเร่งรีบเดินทางกลับกรุงวอชิงตัน เพื่อหาทางเจรจาสกัดกั้น “หน้าผาการคลัง” ซึ่งหมายถึงการที่มาตรการขึ้นภาษีเงินได้ชาวอเมริกันแทบทุกคน ตลอดจนการถูกบังคับตัดลดงบประมาณรายจ่ายก้อนมหึมา จะมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และคาดกันว่าจะเป็นปัจจัยฉุดอเมริกากลับสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี ล่าสุดปรากฏว่า ทั้งฝ่ายรีพับลิกันและฝ่ายเดโมแครตยังไม่เลิกตั้งแง่ใส่กัน
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ตัดการหยุดพักผ่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาสในฮาวายให้สั้นลง แล้วเร่งเดินทางกลับถึงกรุงวอชิงตันในวันพฤหัสบดี(27) เพื่อเปิดการเจรจาต่อรองกับฝ่ายรีพับลิกัน ในการสกัดกั้นภาวะ “หน้าผาการคลัง” ซึ่งมาตรการลดภาษีเงินได้ให้ชาวอเมริกันจำนวนมากจะหมดอายุลง ขณะที่งบประมาณรายจ่ายของประเทศก็ถูกบังคับตัดลดลงไปก้อนมหึมาโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม และนักเศรษฐศาสตร์ต่างเตือนว่าจะส่งผลให้อเมริกากลับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระนั้นก็ตาม เวลานี้รีพับลิกันกับเดโมแครตยังคงไม่เลิกตั้งแง่ใส่กัน

เป็นที่คาดหมายกันว่า โอบามาจะพบกับผู้นำจากพรรครีพับลิกันอีกครั้งเพื่อเจรจาหาทางออกกรณี “หน้าผาการคลัง” แม้ยังไม่มีการประกาศวันที่แน่ชัดก็ตาม

ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความปรารถนาที่จะตัดลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศ สืบเนื่องสหรัฐฯกำลังประสบภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่ารีพับลิกันนั้นคัดค้านการตัดงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหม ขณะที่เรื่องมาตรการลดภาษีเงินได้ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช นั้น ฝ่ายนี้ก็ต้องการให้ต่ออายุออกไปทั้งหมดโดยครอบคลุมถึงพวกที่มีรายได้สูงสุดด้วย ส่วนฝ่ายเดโมแครตต้องการคงการสนับสนุนครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้นจึงต่อต้านการตัดหั่นงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม และต้องการให้มาตรการลดภาษีเงินได้ยืดอายุออกไปโดยยกเว้นไม่มีการลดให้แก่พวกที่มีรายได้สูงสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ระมัดระวังตัว พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ฝ่ายตนถูกกล่าวหาได้ว่า เป็นต้นเหตุทำให้ตกลงหลีกเลี่ยงภาวะ “หน้าผาการคลัง” (fiscal cliff) กันไม่ได้ จนนำไปสู่การตัดลดงบรายจ่ายอย่างมโหฬารโดยฉับพลัน ซึ่งคาดหมายกันว่าจะสร้างความเสียหายต่อตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอเมริกาจะกลับตกลงสู่ภาวะถดถอย

เนื่องจากเวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังมีความแตกต่างกันมาก จึงไม่ค่อยมีหวังที่จะสามารถทำข้อตกลงแก้ปัญหาแบบยาวไกลทั้งกระบวนให้เสร็จสิ้นได้ก่อนย่างเข้าปีใหม่ กระนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า อาจมีข้อตกลงระยะสั้นออกมา เพื่อเลื่อนการตัดลดงบประมาณรายจ่ายก้อนมหึมาออกไปจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า

เมื่อวันพุธ (26) จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน เรียกร้องให้วุฒิสภาที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก เป็นฝ่ายเสนอร่างกฎหมายแนวทางการหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลังที่จะได้รับการรับรองจากทั้งสภาสูงและสภาล่าง

ด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะรัฐบาลโต้ตอบว่า สิ่งที่ทำเนียบขาวต้องการคือ ผู้นำรีพับลิกันต้องไม่ขัดขวางการลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว และว่าอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก แต่มาจากความตื้นเขินของรัฐสภา

ทั้งนี้ วุฒิสภามีกำหนดเปิดประชุมอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (27) ขณะที่โบห์เนอร์ให้คำมั่นว่า ถ้าจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะให้เวลา ส.ส.เตรียมตัว 48 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ในวันพุธ รัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ก็ได้ส่งจดหมายส่งถึง แฮร์รี รีด ผู้นำของเดโมแครตในวุฒิสภา โดยระบุ ว่า กระทรวงคลังจะต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อชะลอรายจ่ายราว 200,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการป้องกันไม่ให้ยอดหนี้พุ่งขึ้นไปแตะเพดานการกู้ยืมซึ่งปัจจุบันกำหนดเอาไว้ที่ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 31 ที่จะถึงนี้ โดยกระทรวงคาดการณ์ว่าการดำเนินมาตรการเช่นนี้จะยืดเวลาไปได้ราว 2 เดือน ทั้งนี้หากหนี้สินถึงขีดเพดานการกู้ยืมแล้ว ก็หมายความว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถจะกู้ยืมเพิ่มเติมได้อีกต่อไป

ไกธ์เนอร์เตือนว่า หากปราศจากมาตรการพิเศษแล้ว รัฐบาลอาจเผชิญภาวะเงินสดขาดมือในวันจันทร์ (31) และอเมริกาก็จะประสบภาวะผิดนัดชำระหนี้

ครั้งล่าสุดที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้ใกล้ทะลุเพดานคือช่วงฤดูร้อนปี 2011 และโอบามาต้องเจรจาในนาทีสุดท้ายกับรัฐสภาที่รีพับลิกันควบคุม เพื่อขยายเพดานการกู้ยืมจาก 14.3 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน โดยที่ข้อตกลงคราวนั้นเองนำมาซึ่งปรากฏการณ์ “หน้าผาการคลัง” ที่หมายถึงการยุติการลดภาษีเงินได้หรือก็คือการขึ้นภาษี บวกด้วยการตัดลดงประมาณรายจ่ายก้อนใหญ่โดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ศกหน้า

อย่างไรก็ดี ไกธ์เนอร์สำทับว่า เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับนโยบายภาษีและการลดการใช้จ่ายที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในขณะนี้ จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า มาตรการพิเศษนี้จริงๆ แล้วจะมีผลนานเท่าใด
กำลังโหลดความคิดเห็น