เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชาวฝรั่งเศส เผยผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างเข้าร่วมการประชุม “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” ที่เมืองดาวอสในสวิตเซอร์แลนด์ โดยเตือนว่าสหรัฐฯ กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก
ลาการ์ด วัย 57 ปี ซึ่งครองตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของไอเอ็มเอฟมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2011 เตือนว่า บรรดานักการเมืองในสภาคองเกรสส์ของสหรัฐฯ ควรเร่งยุติความขัดแย้ง และหันมาผลักดันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดแผนการหรือข้อตกลงระยะยาวในการรับมือปัญหาด้านการคลังและการขาดดุลของประเทศ มิฉะนั้น สหรัฐฯ อาจต้องสูญเสียสถานะของการเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก
กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯกำลังถูกทำลายลงไปทีละน้อย หาก “เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน” เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินและงบประมาณของสหรัฐฯยังคงคาราคาซัง พร้อมย้ำว่าวิกฤตด้านความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความ “เปราะบาง” อย่างยิ่งยวด และจนถึงขณะนี้บรรดาผู้เกี่ยวข้องในสภาคองเกรสส์ของสหรัฐฯยังคงไม่สามารถสร้างหลักประกันใดๆ ที่จะป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นของตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกต้องแตกสลายลง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของลาการ์ดมีขึ้น หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติเมื่อวันพุธ (23) เห็นชอบขยายเพดานก่อหนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจผจญวิกฤตผิดนัดชำระหนี้และซื้อเวลาสำหรับการเจรจาตัดลบงบประมาณรายจ่าย
โดยร่างพระราชบัญญัติขยายเพดานหนี้จะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภาซึ่งคาดหมายว่าจะได้รับความเห็นชอบเช่นกัน จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการลงนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ทั้งนี้ หนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเหนือเพดานการก่อหนี้ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว จนกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องงัดมาตรการพิเศษช่วยยืดเวลาให้รัฐบาลยังพอมีเงินใช้จ่ายไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
เบื้องต้นพรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ต้องการผูกโยงการขยายเพดานหนี้กับการตัดลดงบประมาณ แต่ทางฝั่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยืนยันว่า พร้อมหารือขั้นตอนในการลดภาวะขาดดุลงบประมาณ แต่ต้องแยกจากประเด็นการขยายเพดานการก่อหนี้ และย้ำว่าการลดยอดขาดดุลงบประมาณควรครอบคลุมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ด้วย มิใช่การมุ่งลดรายจ่ายเพียงด้านเดียว
การขยายระยะเวลาครั้งนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งของบรรดา ส.ส.ฝ่ายรีพับลิกันเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งเรื่องกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้และเปลี่ยนข้อเรียกร้องของตนเป็นเสนอเส้นตายการเงินแบบอื่นที่จะไม่ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ โดยเส้นตายดังกล่าวรวมไปถึง การตัดภาระค่าใช้จ่ายอัตโนมัติในวันที่ 1 มีนาคม และการสิ้นสุดของกองทุนเพื่อหน่วยงานและแผนนโยบายภาครัฐในวันที่ 27 มีนาคมนี้
มาตรการที่นำเสนอโดยฝั่งรีพับลิกันนี้ ผ่านความเห็นชอบด้วยแรงสนับสนุนของทั้งสองฝ่าย 285-144 เสียง โดยสมาชิกฝ่ายรีพับลิกันยังเพิ่มมาตราหนึ่งในรัฐบัญญัติ ซึ่งห้ามวุฒิสภารับเงินเดือนหากไม่อนุมัติทันเส้นตายภายในวันที่ 15 เมษายน
ทั้งนี้ หากรัฐบัญญัติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและลงนามโดยประธานาธิบดีโอบามาจะส่งผลให้เพดานหนี้ปัจจุบันของสหรัฐฯ จะได้รับการขยายออกโดยอัตโนมติไปจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 18 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ