xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยมะกันชี้ “ระบอบประชาธิปไตย” ตกต่ำทั่วโลกในปี 2012 “มาลี” วิกฤตสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กร ฟรีดอม เฮาส์
เอเอฟพี - ระบอบประชาธิปไตยมีแนวโน้มอ่อนแอลงทั่วโลกในปี 2012 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้ว หลังการปฏิวัติประชาธิปไตยในโลกอาหรับกระตุ้นให้บรรดาผู้นำเผด็จการคิดกำจัดผู้ที่ตั้งตนเป็นเสี้ยนหนามต่อรัฐเสียแต่เนิ่นๆ ผลวิจัยในสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่วันนี้ (16) ระบุ

รายงานประจำปีของฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนในสหรัฐฯ พบว่า 90 ประเทศทั่วโลกยังมีระดับความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ในปี 2012 เพิ่มขึ้นจาก 87 ประเทศในปี 2011 ทว่ารัฐบาล 27 ประเทศมีการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพด้านการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อมวลชน

รายงาน Freedom in the World 2013 ยังเน้นถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะต้องมีบทบาทปกป้องระบอบประชาธิปไตย พร้อมสนับสนุนให้วอชิงตันยื่นมือเข้าช่วยเหลือภาคเอกชนในประเทศที่พลเมืองถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ

พลเมืองราว 2,300 ล้านคน หรือร้อยละ 34 ของประชากรโลกทั้งหมด อาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งจัดว่าไม่มีเสรีภาพ ตัวอย่างเช่น รัสเซีย และอิหร่าน ซึ่งรัฐได้เพิ่มมาตรการกดดันนักหนังสือพิมพ์ และบล็อกเกอร์ ขณะที่เวเนซุเอลาก็ได้ฮูโก ชาเบซ มาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

“ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของผู้นำเผด็จการยุคใหม่... โดยเฉพาะหลังเกิดการปฏิวัติอาหรับสปริง ซึ่งทำให้ผู้นำเหล่านี้หันมาปราบปรามการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น” อาร์ค พัดดิงตัน รองประธานโครงการวิจัยของ ฟรีดอม เฮาส์ แถลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานในปี 2012 เช่น ลิเบีย, ตูนิเซีย และพม่า ขณะที่รัฐบาลอียิปต์, ซิมบับเว, มอลโดวา และไอเวอรีโคสต์ ก็เริ่มให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้นแล้ว

ระบอบประชาธิปไตยในมาลีถือว่าตกต่ำลงมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่ทหารลุกขึ้นปฏิวัติล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และถือเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยเสื่อมถอยมากที่สุดในระยะเวลาเพียงปีเดียว นับตั้งแต่ฟรีดอมเฮาส์ได้เริ่มทำการวิจัยมา

มัลดีฟส์เป็นประเทศซึ่งปิดกั้นเสรีภาพประชาชนรุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ศรีลังกาก็เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังครองแชมป์ระบอบที่สามารถควบคุมการเมืองได้อย่างซับซ้อนที่สุดในโลก ส่วนการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัสเซียอีกสมัยอาจยิ่งทำให้พลเมืองหมีขาวถูกริดลอดเสรีภาพมากขึ้น

“ปูตินใช้แนวทางที่รัดกุมขัดขวางมิให้กิจกรรมภาคการเมืองและพลเรือนเป็นไปอย่างอิสระ ออกกฎหมายควบคุมการประท้วง สกัดกั้นการทำงานของเอ็นจีโอ และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต”

“สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียทำให้ยูเรเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีการปิดกั้นเสรีภาพมากที่สุดในโลก ไม่แพ้ตะวันออกกลาง”

ฟรีดอมเฮาส์ยังวิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่า “ขาดการตอบโต้อย่างน่าเชื่อถือ” หลังจากที่รัสเซียบีบให้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ต้องปิดสำนักงานในกรุงมอสโก เมื่อปีที่แล้ว

“รัฐบาลโอบามามีประวัติการสนับสนุนประชาธิปไตยที่ไม่สม่ำเสมอนัก แม้จะมีความริเริ่มเชิงบวกอยู่บ้าง แต่ก็มีหลายกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำเพิกเฉย ในขณะที่นักต่อสู้ทางการเมืองในหลายประเทศกำลังถูกบดขยี้ เช่น เหตุการณ์ที่อิหร่านเมื่อปี 2009”
กราฟแสดงระดับเสรีภาพในการรับรู้และแสดงความเห็นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในปี 2012 ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มไม่เสรี
กำลังโหลดความคิดเห็น