xs
xsm
sm
md
lg

‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต

เผยแพร่:   โดย: ศุภชัย พานิชภักดิ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Developed nations must boost growth
By Supachai Panitchpakdi
20/12/2012

การที่เศรษฐกิจโลกกลับปรากฏความอ่อนแอเปราะบางขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง กำลังเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นรอบที่สอง และเนื่องจากพวกประเทศกำลังพัฒนาโดยลำพังแล้ว ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระแห่งการสนับสนุนค้ำจุนการเจริญเติบโตของโลกได้ ดังนั้นจึงต้องกลายเป็นความรับผิดชอบของโลกพัฒนาแล้ว ที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้วิกฤตทางการเงินและทางเศรษฐกิจหวนกลับคืนมาอีก

เจนีวา – เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่อ่อนแอลงอย่างสำคัญมาตั้งแต่ตอนสิ้นปี 2011 และแรงกดดันขาลงก็ยิ่งปรากฏเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงปี 2012 อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตของโลก ซึ่งก็ชะลอตัวลงไปแล้วจากระดับ 4.1% ในปี 2010 จนเหลือเพียง 2.7% ในปี 2011 นั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าจะยิ่งเฉื่อยช้าลงอีกในปี 2012 กระทั่งขยายตัวได้แค่ประมาณ 2.3% โดยเฉพาะพวกระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้วโดยรวม ในรอบปี 2012 น่าที่จะเติบโตได้เพียงแค่เกิน 1% นิดเดียวเท่านั้น เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากการที่สหภาพยุโรปเวลานี้กำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สภาพเช่นนี้ช่างตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับผลงานของระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่านทั้งหลาย ซึ่งต่างก็ทำได้อย่างแข็งแกร่งกว่ามาก โดยที่อัตราการเจริญเติบโตยังน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ที่ประมาณ 5% และ 4% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ก็กำลังปรากฏอาการของการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะหลบหลีกรอดพ้นผลกระทบต่างๆ ที่เนื่องมาจากความลำบากทุกข์ยากทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว

ทั้งนี้นอกเหนือจากอุปสงค์ของภาคเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากได้อ่อนตัวลงมาอย่างมากมาย ชาติเหล่านี้ยังกำลังใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพิ่มความเข้มงวดทางการคลัง ด้วยมีทัศนะว่าจะส่งผลเป็นการลดยอดหนี้สินภาคสาธารณะ และทำให้ตลาดการเงินกลับมีความเชื่อมั่นไว้วางใจขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งนโยบายเหล่านี้ก็กำลังเพิ่มความอ่อนแอในอุปสงค์ภายในประเทศและการเจริญเติบโตภายในประเทศ โดยที่ความอ่อนแอเช่นนี้ย่อมกลับกลายเป็นอันตรายต่อเป้าหมายที่จะจัดการคลังให้รัดกุมทะมัดทะแมงและที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่น

มีบางรัฐบาลที่กำลังพยายามกระตุ้นการเจริญเติบโต โดยวิธีมุ่งส่งเสริมให้การส่งออกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกำลังดำเนินการปรับปรุงยกระดับความสามารถในการแข่งขันของพวกเขา ด้วยการลดอัตราค่าจ้างตามตัวเลขตลอดจนลดต้นทุนด้านอื่นๆ สำหรับประเทศยุโรปจำนวนมากที่เป็นสมาชิกอยู่ในสหภาพการเงิน (ยูโรโซน) แล้ว นี่ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้ค่าเงินตราลดต่ำลงในทางเป็นจริงนั่นเอง ทว่าอันตรายของนโยบายนี้อยู่ตรงที่ว่ามันจะสร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่อุปสงค์ภายในประเทศ ก่อนที่มันจะสามารถช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีเครื่องหมายคำถามสำหรับกระบวนการในการปรับตัวแบบนี้

เมื่อเป็นดังนั้น พวกระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั้งหลายจึงควรปรับเปลี่ยนจุดเน้นแห่งนโยบายของพวกเขา จากการมุ่งจัดการคลังให้รัดกุมทะมัดทะแมงและการลดค่าเงินตราภายใน แล้วหันไปหนุนการฟื้นฟูการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะนี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้นซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถหลบหลีกไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเงินและทางการคลังขึ้นมาอีก

เหล่าประเทศที่ยังมีพื้นที่ทางการคลังกว้างขวางกว่าชาติอื่นๆ และมีการได้เปรียบดุลการชำระเงินอยู่มาก ควรที่จะออกหน้าเป็นผู้นำด้วยการขยายอุปสงค์ภายในประเทศของพวกเขา การทำเช่นนี้ยังสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่พวกเขาให้ไว้ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี-20 (Group of 20 Summit) ครั้งหลังสุด และมีส่วนสร้างคุณูปการให้แก่การปรับสมดุลของโลกกันใหม่ในทางที่เป็นมิตรต่อการเจริญเติบโต (growth-friendly global rebalancing)

ในทางเป็นจริงแล้ว พวกระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกตนอยู่แล้ว ด้วยการกระตุ้นสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศและด้วยการดำเนินนโยบายต่างๆ แบบตรงกันข้ามกับวัฎจักรเศรษฐกิจ (countercyclical policies) เป็นต้นว่า การออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการขยายสินเชื่อ พวกเขายังประสบความสำเร็จในการป้องกันไม่ให้อัตราการว่างงานเพิ่มพรวดพราด และทำให้อัตราค่าจ้างแท้จริงยังคงสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

ทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อบวกกับการที่ประเทศจำนวนมากยังมีการถ่ายโอนกิจการของภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนอีกด้วย ได้กลายเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการบริโภคของภาคเอกชน และมีผลต่อเนื่องในทางทำให้เกิดการลงทุนเพื่อการผลิต ถึงแม้แนวโน้มเช่นนี้มักจะยังไม่เพียงพอถึงขนาดทำให้สามารถหลีกเลี่ยงรอดพ้นจากสภาพที่อัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงได้ก็ตามที

แท้ที่จริงแล้ว บรรดาระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่านทั้งหลาย กำลังได้รับความกระทบกระเทือนจากการที่พวกประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการเจริญเติบโตที่เชื่องช้าลงหรือกระทั่งตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจหดตัว เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นจากปริมาณการส่งออกไปยังตลาดเหล่านั้นซึ่งอยู่ในอาการชะงักงันแน่นิ่ง และจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มลดต่ำลงนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2011

ยิ่งกว่านั้น จากการที่พวกประเทศพัฒนาแล้วตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพทางการเงิน และต้องพึ่งพาอาศัยนโยบายการเงินอย่างมากมายจนเกินล้น ก็กำลังก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางการเงินไปสู่พวกระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ตลอดจนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปกติเคลื่อนไหวแบบวูบวาบอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนมากขึ้นอีก

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงไม่สามารถที่จะประกาศว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะช็อกครั้งใหญ่ในตลาดการเงินโลกขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่งนั้นไม่ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ภาวะช็อกใหญ่ดังกล่าวนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ, ราคาสินทรัพย์และราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน (risk spreads), การเคลื่อนย้ายเงินทุน, และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่จะกระทบกระเทือนระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่านทั้งสิ้น

มีบางรัฐบาลกำลังหาทางดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ เพื่อเอาชนะวิกฤตคราวนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development ใช้อักษรย่อว่า UNCTAD อังค์ถัด) นั้น กระตุ้นสนับสนุนให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเสมอมา เนื่องเพราะหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมแล้ว กระบวนการพัฒนาใดๆ ก็ย่อมมิอาจบังเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างมักมุ่งเน้นที่ความพยายามในการทำให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นตัวเพิ่มมากขึ้น

ทว่า การปฏิรูปดังกล่าวกลับจะกลายเป็นการทำลายแรงจูงใจสำหรับการลงทุนและการสร้างนวัตกรรม แท้จริงแล้ว ถ้าหากพวกกิจการที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า สามารถที่จะชดเชยผลกำไรที่ได้มาต่ำกว่าของพวกตน ด้วยวิธีการตัดลดอัตราค่าจ้างแล้ว พวกเขาก็ย่อมไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องหาทางเพิ่มผลิตภาพของพวกเขาเพื่อให้สามารถอยู่รอดและขยายตัวต่อไปได้ การปฏิรูปดังกล่าวยังมีภัยที่จะกลายเป็นการบ่อนทำลายอุปสงค์ภายในประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

เพื่อที่จะทำให้กลับมามีการเจริญเติบโตแบบยั่งยืนอย่างคึกคักเข้มแข็งขึ้นใหม่ รัฐบาลต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการในการลดความไม่เสมอภาคทางรายได้ ด้วยการทำให้เกิดความแน่ใจได้ว่าทุกๆ กลุ่มสังคมล้วนมีส่วนในการร่วมรับดอกผลของผลิตภาพ ที่งอกเงยขึ้นมาจากความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยี

การปฏิรูปตลาดแรงงานไม่ใช่เป็นทางออกจากวิกฤตคราวนี้ เพราะวิกฤตคราวนี้ไม่ได้มีต้นตอมาจากตลาดแรงงาน นอกจากนั้น นโยบายต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง ย่อมไม่สามารถทดแทนนโยบายต่างๆ ในเชิงเศรษฐกิจมหภาคซึ่งมุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่พึงดำเนินการนั้น จักต้องมุ่งจัดการกับระดับรากเหง้าจริงๆ ของวิกฤตปัจจุบัน นั่นก็คือ ความอ่อนแอเปราะบางของระบบการเงิน และแนวโน้มไปสู่ความไม่เสมอภาคทางรายได้เพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

ในทางตรงกันข้าม การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่พวกประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งกำลังใช้อยู่ มีความโน้มเอียงที่จะก่อให้เกิดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม หรือทำให้โครงข่ายที่มีอยู่แล้วเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้น ตลอดจนมีความโน้มเอียงที่จะขยายบทบาทของนโยบายสาธารณะเพื่อการสนับสนุนการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มาตรการเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเป็นมาตรการแบบตรงกันข้ามกับวัฎจักรเศรษฐกิจ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่จะปกป้องการจ้างงานและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาแห่งความลำบากยุ่งยาก

การที่เศรษฐกิจโลกกลับมีความอ่อนแอเปราะบางขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และการที่ความเสี่ยงขาลงกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมทั้งในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วย เหล่านี้กำลังนำเราไปสู่ปากขอบเหวแห่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งที่สอง พวกประเทศกำลังพัฒนาโดยลำพังแล้ว ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระแห่งการสนับสนุนค้ำจุนการเจริญเติบโตของโลกได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโตในโลกพัฒนาแล้ว และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ในทางหลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤตทางการเงินและทางเศรษฐกิจหวนกลับคืนมาอีก

ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด)
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น