“โอบามา” ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย
ถึงแม้โพลแทบทุกสำนักในช่วงใกล้วันเลือกตั้งต่างระบุว่าคะแนนจะออกมาอย่างคู่คี่มาก แต่ผลการโหวตจริงๆ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัวแทนของพรรคเดโมแครต สามารถชนะ มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ได้ด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) 332 ต่อ 206 ส่วนคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงก็มีชัยในระดับ 50.6% ต่อ 47.9% ทำให้โอบามาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง
สหรัฐฯ เผชิญ “หน้าผาการคลัง”
ตลาดการเงินของสหรัฐฯ และทั่วโลกอยู่ในอาการฝันร้าย เมื่อเหลือเวลาไม่กี่วันก็สิ้นปี 2012 แล้ว แต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรคเดโมแครตของเขาที่เป็นผู้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ยังคงไม่สามารถทำความตกลงกับพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นผู้ควบคุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกกฎหมายและมาตรการใหม่ๆ ที่จะหลีกเลี่ยงการตกลงมาจาก “หน้าผาการคลัง” (Fiscall Cliff) ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์เตือนแล้วเตือนอีกว่า ถ้าปล่อยให้มาตรการต่างๆ ในการลดภาษีมีอันหมดอายุบังคับใช้ไป ขณะเดียวกับที่ต้องดำเนินการตัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างมโหฬารโดยอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมแล้ว เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็จะต้องจมลงสู่ภาวะถดถอยอีกคำรบหนึ่งแน่ๆ
“จีน” เปลี่ยนผ่านอำนาจสู่คณะผู้นำใหม่ นำโดย “สี จิ้นผิง”
พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน และก็เป็นไปตามความคาดหมาย คณะผู้นำจีนชุดเดิมที่นำโดยประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ก้าวลงจากอำนาจและเปิดทางให้คณะผู้นำชุดใหม่นำโดยสี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง สืบทอดอำนาจแทนที่ โดยที่กระบวนการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำจะไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อมีการประชุมรัฐสภาเดือนมีนาคมปีหน้า โดยที่ในตอนนั้นสีจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่ หลี่ก็จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
“เหลียวหนิง” เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนเข้าประจำการ
จีนทำพิธีนำเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” เข้าประจำการในกองทัพเรือของตนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกันยายน ถึงแม้เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของแดนมังกรลำนี้ ยัง “ห่างชั้น” จากเรือรบประเภทเดียวกันของสหรัฐฯ แต่ “เหลียวหนิง” ก็เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะขยายแสนยานุภาพทางทหารของจีน ในเวลาเดียวกัน ปี 2012 ยังได้เห็นปักกิ่งแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มขึ้นในกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกกับพวกประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมๆ กับที่สหรัฐฯ ก็ประกาศปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ที่จะหันมาเน้นหนักให้ความสำคัญสูงที่สุดแก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยจุดมุ่งหมายเป็นนัยๆ ว่าต้องการทัดทานการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน
วิกฤตหนี้ “ยูโรโซน” และกระแสประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด
วิกฤตหนี้สินของยูโรโซน ซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะจบลงด้วยการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือจะกลายเป็นตัวเร่งให้แก่วิวัฒนาการสู่การรวมตัวเป็นเอกภาพของทวีปนี้ โดยที่ยุโรปยังคงโซซัดโซเซอยู่ระหว่างการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของเขตยูโรโซน และการมีมาตรการอันเข้มแข็งขึ้นเพื่อสร้างสหภาพทางการคลังและทางการเมืองที่เหนียวแน่นขึ้นมาให้สำเร็จ ในเวลาเดียวกัน จากการที่ข้อเสนอของพวกนิยมให้แก้ปัญหาด้วยมาตรการเข้มงวด นำโดยนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้รับชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีการบังคับพวกประเทศที่ประสบปัญหาหนักต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างแหลกลาญ ทว่ามาตรการเหล่านี้กำลังทำให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทนไม่ไหว และก่อการประท้วงขนาดใหญ่ขึ้นมาไม่ขาดสาย
“อาเบะ” นักชาตินิยมฝ่ายขวาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่างของญี่ปุ่นในตอนต้นเดือนธันวาคม ฝ่ายรัฐบาลที่มีพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) เป็นแกนนำ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยิน ขณะที่พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอนุรักษนิยมที่เคยปกครองญี่ปุ่นแทบจะต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประสบชัยชนะอย่างงดงาม ทำให้ ชินโซ อาเบะ หัวหน้าพรรคซึ่งแสดงตัวเป็นนักชาตินิยม ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
อียิปต์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “อิสลามิสต์”
กระแสการลุกฮือ “อาหรับ สปริง” ของประชาชนในโลกอาหรับ ซึ่งประสบความสำเร็จในการโค่นล้มผู้นำเผด็จการไปได้ในหลายประเทศ เคยทำให้พวกชาติตะวันตกวาดหวังว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะเจริญรุ่งเรืองในชาติอาหรับเหล่านี้ ทว่าเวลาผ่านไปไม่นานนัก พวกเขาก็ชักรู้สึกผิดหวังและหวาดระแวง เมื่อปรากฏว่ากลุ่มอิสลามิสต์ต่างหากที่สามารถขยายอิทธิพลในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อียิปต์ ซึ่ง โมฮาเหม็ด มอร์ซี ตัวแทนของขบวนการภราดรภาพมุสลิม ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และล่าสุดมอร์ซีกับพันธมิตรกลุ่มอิสลามิสต์ก็สามารถผลักดันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกพวกเสรีนิยมและชาวคริสเตียนกล่าวหาว่ามีเนื้อหาเป็นการถางทางสู่การนำหลักกฎหมายอิสลามมาใช้ปกครองประเทศ
ระบอบ “อัสซาด” ในซีเรียง่อนแง่นยิ่งขึ้นทุกที
การประท้วงอย่างสันติในซีเรียเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตามกระแส “อาหรับ สปริง” เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ได้พัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมืองอันรุนแรง โดยที่รัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม และฝ่ายตะวันตกก็เร่งให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยแก่กลุ่มกบฏ เวลานี้สถานการณ์ของอัสซาดกำลังลำบากมาก เพราะแม้แต่ชาติที่เคยหนุนหลังแข็งขันอย่างรัสเซีย ก็ยังชักเริ่มเปลี่ยนเสียง
“พม่า”ปฏิรูป-“ซูจี” เป็นอิสระ
รัฐบาลใหม่ของพม่าที่นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง อดีตนายทหารใหญ่ผู้เพิ่งถอดเครื่องแบบมาสวมชุดพลเรือน กำลังดำเนินนโยบายปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างแข็งขันน่าประหลาดใจ รวมทั้งการปล่อยตัว อองซาน ซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยให้เป็นอิสระ เวลานี้ฝ่ายตะวันตกรวมทั้งสหรัฐฯ กำลังสนอกสนใจอย่างยิ่งที่จะเข้าไปหาลู่ทางลงทุนในประเทศนี้
เฮอริเคน “แซนดี” ถล่มอเมริกาเสียหาย $71,000 ล้าน
พายุเฮอริเคน “แซนดี” ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมหึมาจนได้รับการขนานนามเป็น “มหาวายุ” (ซูเปอร์สตอร์ม) พัดกระหน่ำใส่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ตอนปลายเดือนตุลาคม สังหารผู้คนไป 128 ราย และสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 71,000 ล้านดอลลาร์