เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (16) ขณะที่โพลหลายสำนัก ชี้ว่า พรรคอนุรักษนิยมแอลดีพี จะได้กลับมาครองอำนาจเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
หน่วยเลือกตั้งทั่วญี่ปุ่นเริ่มเปิดให้ประชาชนลงคะแนน เมื่อเวลา 7.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (5.00 น.ตามเวลาในไทย) และคาดว่า สื่อต่างๆ จะรายงานผลเอ็กซิตโพลทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 20.00 น.(18.00 น.ตามเวลาในไทย)
ผู้สังเกตการณ์คาดว่า พรรค เดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) ของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ มีแววจะต้องพ่ายแก่อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ จากพรรคแอลดีพี ซึ่งนำเสนอนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว เพื่อรับมือข้อพิพาทกับจีนเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก
อาเบะ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างปี 2006-2007 สัญญาว่า จะฟื้นฟูเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาเงินฝืดและค่าเงินเยนแข็ง ซึ่งบีบคั้นภาคการส่งออกมานานหลายปี
ผู้นำฝ่ายค้านยังรับปากจะทุ่มงบประมาณปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่ยังรอการฟื้นฟูครั้งใหญ่จากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011
เหตุอุโมงค์ถล่มบนถนนสายหนึ่งในจังหวัดยามานาชิเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งทำให้มีผู้สังเวยชีวิตไป 9 ศพ ยิ่งทำให้นโยบายของ อาเบะ ฟังดูเป็นที่ดึงดูดใจขึ้น ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์ว่า พรรคแอลดีพีกำลังจะนำญี่ปุ่นกลับไปสู่ความเป็น “รัฐแห่งการก่อสร้าง” เช่นเมื่อทศวรรษที่แล้ว
ความตื่นกลัวในสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคง ทั้งเรื่องการยิงจรวดของเกาหลีเหนือที่ลอยข้ามหมู่เกาะโอกินาวาไปเมื่อไม่กี่วันก่อน รวมถึงการที่จีนส่งเครื่องบินรุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าญี่ปุ่น ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามไปกับนโยบายที่ อาเบะ นำเสนอ
อาเบะ ให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนการป้องกันประเทศ และฟื้นฟูความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯที่อ่อนแอลงไปในรัฐบาลของโนดะ
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกผิดหวังกับผลงานของพรรคดีพีเจ ซึ่งนโยบายที่ผิดพลาด, ปัญหาการทูต และความแตกแยกภายในพรรคเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีถึง 3 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การตอบสนองวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิซึ่งได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่ได้ช่วยกู้คะแนนนิยมให้แก่รัฐบาลได้เลย
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์การเมืองหลายคนชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ปลื้มพรรคใดเป็นพิเศษ และการที่พรรคแอลดีพีมีภาษีดีกว่าเพื่อน ก็เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุดเท่านั้นเอง