เอเอฟพี - ฟิลิปปินส์เผยท่าทีสนับสนุนให้ญี่ปุ่นแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงคราม เพื่อให้สามารถยกระดับกองกำลังป้องกันตนเองขึ้นเป็นกองทัพอย่างเต็มรูปแบบ และแสดงบทบาทคานอำนาจกับจีน โฆษกรัฐบาลฟิลิปปินส์แถลง วันนี้(10)
อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ว่า ฟิลิปปินส์สนับสนุนให้ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นศัตรูเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสริมแสนยานุภาพทางทหารของเอง เพื่อช่วยคานอิทธิพลการยั่วยุของปักกิ่ง
“เรากำลังมองหาปัจจัยที่จะสร้างสมดุลทางอำนาจในภูมิภาคนี้ และญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นปัจจัยนั้น” เดล โรซาริโอ เผย โดยมีนัยยะถึงปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เกือบทั้งหมด
ด้าน ราอูล เฟอร์นันเดซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ก็ออกมายืนยันมุมมองของมะนิลาว่าญี่ปุ่นสมควรยกระดับกองกำลังป้องกันตนเอง เพื่อที่จะแสดงบทบาทในทะเลจีนใต้ได้อย่างเสรียิ่งขึ้น
“เรายินดีอย่างยิ่ง หากญี่ปุ่นจะขยายแสนยานุภาพทางทหาร” เฟอร์นันเดซ ให้สัมภาษณ์
กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้าครอบครองฟิลิปปินส์อยู่นานกว่า 3 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 1941 ซึ่งระหว่างนั้นผู้ที่ต้องสงสัยเป็นกองกำลังติดอาวุธต่อต้านญี่ปุ่นถูกจับไปทรมานและสังหารเป็นจำนวนมาก ส่วนสตรีชาวตากาล็อกก็ถูกบังคับให้เป็นโสเภณีบำเรอกามแก่ทหารปลาดิบ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ปกครอง
นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า สงครามครั้งนั้นได้คร่าชีวิตพลเรือนฟิลิปปินส์ไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
การให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์มีขึ้น ก่อนที่ญี่ปุ่นจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ซึ่งผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ชินโสะ อาเบะ เคยประกาศที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญสันติภาพ (pacifist constitution) ที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับญี่ปุ่นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ปักกิ่งอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมถึงส่วนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญและอาจมีทรัพยากรอันทรงคุณค่า เช่น แร่ธาตุและน้ำมันอยู่ด้วย ทำให้ฟิลิปปินส์, บรูไน, มาเลเซีย, ไต้หวัน และเวียดนาม ออกมาคัดค้าน และอ้างสิทธิ์ในทำนองเดียวกัน
เมื่อเดือนเมษายน เรือลาดตระเวนของจีนเข้าขัดขวางมิให้ทหารเรือฟิลิปปินส์เข้าจับกุมชาวประมงจีนที่เข้าไปหาปลาแถวเกาะปาการังสการ์โบโร ซึ่งอยู่ใกล้เกาะลูซอน และมะนิลาถือว่ายังอยู่ในน่านน้ำของตน
ฟิลิปปินส์ร้องเรียนว่า จีนยังคงส่งเรือลาดตระเวนเข้าไปในน่านน้ำแถบนั้น ทั้งที่ทางฟิลิปปินส์ถอนเรือรบออกมาแล้ว พร้อมขอให้นำกฎหมายระหว่างประเทศมาตัดสินข้อพิพาทดังกล่าว
จีนกับญี่ปุ่นยังมีข้อบาดหมางเรื่องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ “เซ็งกากุ” หรือ “เตี้ยวอี๋ว์” ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งโตเกียวเป็นฝ่ายครอบครองโดยนิตินัย