เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สถิติการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดย 1 ใน 3 เกิดขึ้นในอิรักและอัฟกานิสถาน ขณะที่ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด ผลวิจัยซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้(5) ระบุ
เหตุรุนแรงอันเป็นฝีมือของ “ผู้กระทำที่มิใช่รัฐ” (non-state actor) ขยับขึ้นจากไม่ถึง 1,000ครั้งเมื่อปี 2002 มาเป็น 4,564 ครั้งในปี 2011 ตามข้อมูลจากดัชนีก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Index) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเพื่อเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ประเทศออสเตรเลีย
10 ประเทศแรกที่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายมากที่สุดในปีที่แล้ว ได้แก่ อิรัก, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, อินเดีย, เยเมน, โซมาเลีย, ไนจีเรีย, ไทย, รัสเซีย และฟิลิปปินส์
จำนวนประชากรที่ตกเป็นเหยื่อก่อการร้ายพุ่งสูงสุดในปี 2007 โดยมีผู้ถูกสังหารไปถึง 10,000 คน ส่วนปีที่แล้วมียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกประมาณ 7,500 คน
ผู้วิจัยชี้ว่า “แนวโน้มการก่อการร้ายในปัจจุบันควรจะใช้คำว่า “เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือคงที่” มากกว่าที่จะใช้คำว่า ลดลง” จากปี 2002
ในปี 2011 อิรักยังเป็นประเทศที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายสูงที่สุดในโลก คือ 1,798 รายจากเหตุโจมตีทั้งหมด 1,228 ครั้ง ซึ่งครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในกรุงแบกแดด
สหรัฐฯถอนทหารทั้งหมดออกจากอิรักเมื่อสิ้นปี 2011 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ปากีสถานก็มีผู้ถูกสังหารไปถึง 1,468 รายในปีที่แล้ว ส่วนอัฟกานิสถานสูญเสียชีวิตพลเมืองไปกับเหตุโจมตี 1,293 ราย ในขณะที่สหรัฐฯกำลังจะถอนทหารนาโตออกไปในสิ้นปี 2014
ในกรณีของไทย ผลวิจัยชี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบยังขึ้นๆลงๆตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2011 เกิดเหตุก่อการร้ายรวม 173 กรณี มีผู้เสียชีวิต 142 คน บาดเจ็บอีก 427 คน
ปี 2009 ถือเป็นปีที่ไทยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายมากที่สุด 283 ราย และร้อยละ 85 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด
เนื่องจากกลุ่มก่อความไม่สงบมักปฏิบัติการโดยไม่อ้างความรับผิดชอบ จึงยากสำหรับรัฐบาลไทยที่จะขอเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง
ผลการศึกษาพบว่า ปี 2004 เป็นปีที่มีเหตุโจมตีร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เช่น เหตุโจมตีฝีมือกบฎเหมาอิสต์ในเนปาลเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 518 ราย, การลอบวางระเบิดรถไฟในกรุงมาดริดของสเปนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 191 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 1,800 คน และเหตุกลุ่มติดอาวุธบุกยึดโรงเรียนมัธยมในเมืองเบสลันของรัสเซีย เมื่อวันที่ 1 กันยายน ซึ่งทำให้มีผู้ถูกสังหารไป 300 ราย บาดเจ็บอีก 700 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน
งานวิจัยซึ่งวิเคราะห์เหตุรุนแรง 104,000 กรณีตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปี 2011 พบว่า เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายส่วนใหญ่มักเป็นทรัพย์สินของเอกชน, สำนักงานรัฐบาล และตำรวจ ส่วนค่ายทหารคิดเป็นเพียง 4% ของเป้าหมายทั้งหมด
สำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายในปี 2011 ได้แก่ บราซิล, ลาว, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, โปแลนด์, สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น