เอเอฟพี - อะหมัด เป็นหนึ่งในเยาวชนอีกหลายพันคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่ต้องกำพร้าพ่อแม่จากเหตุความไม่สงบ และไม่ได้รับการเหลียวแลจากโลกภายนอก ขณะที่ตัวเขาเองก็ยังไม่อาจลืมเลือนฝันร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว และไม่กล้าที่จะออกไปไหนไกลบ้าน
ตลอดหลายปีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางดงระเบิด, กระสุนปืน และประกาศเคอร์ฟิวของรัฐ เด็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างตกอยู่ในภาวะเครียดจัดและหวาดผวา
“ผมพยายามอยู่ใกล้ๆบ้าน... ไม่เคยออกไปไหนไกลเลย” อะหมัด วัย 12 ปี ให้สัมภาษณ์
ซุนนะห์ วัย 15 ปี ผู้เป็นพี่สาว เล่าว่า พ่อของเธอถูกคนร้ายไม่ทราบกลุ่มสังหารเมื่อ 6 ปีก่อน ทำให้ชีวิตวัยเด็กที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของเธอต้องสูญสิ้น หลังจากนั้นไม่นานแม่ของเธอก็เสียชีวิตในอุบัติเหตุ ทำให้สองพี่น้องต้องไปอาศัยอยู่กับป้า
“หนูรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเวลาเจอคนแปลกหน้า... หนูไม่ไว้ใจทุกคนที่จ้องมองหนู โดยเฉพาะพวกทหารน่ากลัวที่สุด” เธอบอก
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อธิบายว่า อารมณ์โกรธเกรี้ยว, การเก็บตัว, และความหวาดระแวง เป็นอาการทั่วไปของความเครียด หรือความผิดปกติทางจิตใจหลังเผชิญอันตราย (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) ซึ่งเกิดกับเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟใต้ที่เรื้อรังมากว่า 8 ปี
“ความกลัวเป็นปัญหาสำคัญที่หนึ่ง เด็กบางคนเห็นพ่อแม่ถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา, เห็นร้านค้าของครอบครัวถูกเผา, เห็นญาติมิตรถูกทุบตีหรือทำทารุณกรรม” พญ.เพชรดาว ให้สัมภาษณ์ที่คลินิกใน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเป็นประจำ
“เด็กๆเหล่านี้ได้ยืนข่าวลือว่าจะเกิดการโจมตีบ้าง เห็นเฮลิคอปเตอร์บินผ่านไปโดยมีปืนส่องลงมาที่พวกเขาบ้าง มันยากที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ ในขณะที่รู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเป้าหมายอยู่ทุกวัน”
ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา มีประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ต่ำกว่า 5,300 รายที่ต้องสังเวยชีวิตในเหตุระเบิด, ลอบสังหาร และกราดยิงของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการเรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง รวมไปถึงปฏิบัติการตรวจค้นบ้านต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ว่า เหยื่อเกือบร้อยละ 60 มีอายุ 15 ปีหรือต่ำกว่า และยังมีเด็กอีกจำนวนมากได้รับบาดเจ็บเพราะตกอยู่ท่ามกลางดงกระสุน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เด็กชายวัย 11 ขวบคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกับพ่อ ส่วนน้องชายวัย 9 ขวบของเขายังมีอาการสาหัส และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.ยะลา
สถิติเด็กกำพร้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง ผลการศึกษาโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นองค์กรท้องถิ่นที่ไม่สังกัดภาครัฐ พบว่า ขณะนี้มีจำนวนเด็กกำพร้าไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ขณะที่องค์กรเพื่อเด็กอื่นๆประเมินจำนวนเด็กกำพร้าไว้สูงกว่านี้ 2-3 เท่า
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงยังส่งอิทธิพลด้านลบต่อสภาพจิตใจของเยาวชน โดยผลวิจัยเมื่อปี 2010 ที่เก็บข้อมูลจากเด็ก 3,000 คนในสามจังหวัดชายแดนใต้พบว่า เกือบร้อยละ 22 ของเด็กที่อายุระหว่าง 11-18 ปีมีอาการของโรค PTSD เกือบร้อยละ 40 มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น กระวนกระวาย, ขาดความเชื่อมั่น, สมาธิสั้น, หวาดกลัว และก้าวร้าว
“เด็กบางคนเติบโตขึ้นมาโดยรู้จักแต่ความรุนแรง” พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดทำงานวิจัยดังกล่าว ให้สัมภาษณ์
“เด็กประถมบางคนถึงกับบอกเราว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดเพื่อจะให้ชีวิตดีขึ้นก็คือ ปืน ซึ่งไม่ใช่คำตอบธรรมดาสำหรับเด็กวัยนี้”
เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบมุ่งโจมตีสถานที่ราชการ ทำให้โรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆอีกต่อไป ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีครูถูกสังหารไปแล้วกว่า 150 คน และยังมีการวางเพลิงเผาโรงเรียนไปอีกหลายร้อยแห่ง
แอนดรูว์ มอร์ริส จากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ((UNICEF) ระบุว่า “สถานการณ์ความขัดแย้งจะบั่นทอนพัฒนาการของเด็ก... ยิ่งนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งบอกว่าภาครัฐเริ่มจะให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของพลเมืองชายแดนใต้มากขึ้น โดยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หรือในช่วงที่เหตุการณ์รุนแรงเพิ่งจะเริ่ม พื้นที่ จ.ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาสมีจิตแพทย์ประจำการอยู่เพียง 1 คนเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 40 คน
กระนั้นก็ตาม เหตุรุนแรงที่ไม่มีวี่แววว่าจะยุติทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า เยาวชนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับสภาพจิตที่บอบช้ำอาจถูกชักจูงให้เข้าร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งความเป็นไปได้นี้ก็เป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายทหารและกลุ่มติดอาวุธมิได้มองข้าม
“เด็กๆเหล่านี้เป็นที่ต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย... และถ้าพวกเขายังเติบโตท่ามกลางบริบทของความขัดแย้งอยู่เช่นนี้ อีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า พื้นที่นี้จะไม่มีความสันติสุขหลงเหลืออยู่เลย” พญ.เพชรดาว เตือน