xs
xsm
sm
md
lg

Analysis : นักวิเคราะห์ชี้ “โอบามา” รุกจีบหม่องถึงย่างกุ้ง ทำเอา “จีน” คิดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ พบปะกับประธานาธิบดี เต็งเส่ง แห่งพม่า ระหว่างเดินทางเยือนนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
เอเอฟพี - จากที่เคยเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลกที่ผูกขาดอิทธิพลทางเศรษฐกิจในพม่า วันนี้จีนเสี่ยงที่จะต้องเสียส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้แก่สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศที่เตรียมเข้าไปขอผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลเมืองหม่อง ผู้เชี่ยวชาญเผย

การค้าขายกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนนอกจากจะช่วยให้พม่าไม่เดือดร้อนจากการปิดประเทศแล้ว สิทธิ์วีโตที่จีนมีอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังเป็นเกราะคุ้มกันพม่าจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติที่เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่พม่าตอบแทนจีน คือการให้สิทธิ์เข้าถึงแหล่งน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินของตน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าสูญสิ้นอำนาจไปเมื่อปีที่แล้ว จีนเองก็สูญเสียอำนาจต่อรองที่เคยมีอยู่เช่นกัน

นักธุรกิจสหรัฐฯ และยุโรปต่างแย่งกันเข้าไปเปิดกิจการในพม่า เพื่อแย่งชิงทรัพยากรและส่วนแบ่งตลาดกับจีน, อินเดีย และประเทศอื่นๆในเอเชียที่หวังเข้าไป “โกยทอง” จากเมืองหม่องเช่นเดียวกัน

การเดินทางเยือนนครย่างกุ้งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในสัปดาห์นี้ ถือเป็นสัญญาณเด่นชัดที่สุดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับพม่าไม่เย็นชาห่างเหินอีกต่อไป

เรโนด์ เอเกรโต ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้ว่า รัฐบาลพม่ากำลังพยายามลดการพึ่งพาปักกิ่ง

“เห็นได้ชัดว่า ยุคสมัยแห่งการผูกขาดของจีนจบสิ้นลงไปแล้ว” เอเกรโตเผย แต่ก็ย้ำว่าจีนจะยังคงเป็นชาติที่มีอิทธิพลอย่างสูงในพม่าต่อไป
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เดินทางไปเยี่ยมชมและสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง
ยุทธศาสตร์มุ่งสู่เอเชียเพื่อสกัดกั้นพญามังกรเริ่มปรากฏชัดเจนจากการเยือนพม่าของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งสร้างความหงุดหงิดไม่น้อยต่อผู้นำจีน

หยวน เผิง ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งจีน ให้ความเห็นว่า “อเมริกาจะใช้แนวทางที่ไม่ใช่การทหาร เพื่อชะลอหรือขัดขวางการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชีย”

บทวิเคราะห์ของ เผิง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่า วิธีที่สหรัฐฯจะใช้ก็คือการ “แสวงหาพันธมิตร, ยกระดับความร่วมมือ และบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ, ปากีสถาน และพม่า”

กระนั้นก็ตามที ศาสตราจารย์ เฉิน ชี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าที่หยั่งรากลึกมานานปี จะไม่สูญสลายไปในชั่วข้ามคืนอย่างแน่นอน

“หากพม่าได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติมากขึ้น จีนก็จะต้องใช้ทักษะทางการทูตที่ดียิ่งกว่า เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้”

นักวิเคราะห์เชื่อว่า สหรัฐฯไม่เพียงหวังเข้าไปมีอิทธิพลในพม่าแทนที่จีนเท่านั้น แต่การสิ้นสุดยุคผูกขาดของปักกิ่งยังทำให้นักธุรกิจจีนที่เข้าไปตั้งรกรากในพม่ามาเป็นเวลานานแล้ว ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

“นักธุรกิจจีนไม่เคยต้องแข่งขันกับใคร ตลอด 20 กว่าปีที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากุมอำนาจอยู่ พวกเขาอยากจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น” ออง จอว์ ซอว์ ปัญญาชนชาวพม่าผู้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการ ให้สัมภาษณ์

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่จีนให้ทุนสนับสนุนพม่าอยู่ด้วย
ประธานาธิบดีสหรัฐฯสนทนากับนาง อองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ในบรรยากาศที่อบอุ่นชื่นมื่น
เดือนกันยายน ปี 2011 ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง สั่งระงับโครงการก่อสร้างเขื่อน Myitsone ในรัฐคะฉิ่น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังถูกประชาชนรวมตัวประท้วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ครั้งนั้นชาติตะวันตกต่างชื่นชมท่าทีของผู้นำพม่า และมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับปักกิ่ง

โจช กอร์ดอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า จีนกำลังถูกบีบให้ทบทวนนโยบายต่อพม่าเสียใหม่ ขณะที่ในพม่าเองก็เกิดกระแสเกลียดชังจีน

“วัฒนธรรมการเมืองของพม่ามีลักษณะเกลียดกลัวคนแปลกหน้า (xenophobic) อยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งสิ่งนี้ก็ยิ่งทำให้คนพม่าต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนเข้าไปในประเทศของพวกเขา” กอร์ดอน ระบุ

อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าธุรกิจของชาวจีนซึ่งเป็นที่มาของสินค้าและบริการที่ประชากรพม่า 60 ล้านคนใช้สอยอยู่ทุกวี่วัน จะสามารถหาหนทางใหม่ๆที่จะเติบโตต่อไปได้

“โครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จีนเข้าไปสนับสนุนอาจลดความสำคัญลงบ้าง เนื่องจากมีผู้เล่นรายอื่นๆ เข้าไปในพม่าเพิ่มขึ้น... แต่สหรัฐฯคงไม่สามารถแย่งตลาดเก้าอี้พลาสติกถูกๆที่จีนส่งขายในพม่าได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน”

ทุกวันนี้ไม่เพียง เป๊ปซี่ หรือโคคาโคลา ของอเมริกาเท่านั้นที่เข้าไปแข่งขันกับบริษัทจีนในพม่า ญี่ปุ่นก็เห็นพม่าเป็นขุมทองที่จะเข้าไปต่อยอดความรุ่งเรืองทางธุรกิจด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองกำลังถูกบีบคั้นด้วยปัญหาจำนวนประชากรลดลง

ฌอน เทอร์เนลล์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม็คควารี ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ด้วยคำสัญญามอบเงินช่วยเหลือ และการสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพม่า “ญี่ปุ่นถือเป็นม้ามืดที่มาแรง”
นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน จับมือกับพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ที่กรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2010 (แฟ้มภาพ)
โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า Myitsone ในรัฐคะฉิ่น ที่ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง สั่งระงับไว้ชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น