เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-อุตสาหกรรมยางพารามาเลเซียที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม กำลังจะได้รับข่าวดี หลังบริษัท “Karex Industries Sdn Bhd” ผู้ผลิตถุงยางอนามัยชั้นนำของแดนเสือเหลือง ประกาศจะชุบชีวิตอุตสาหกรรมยางพาราที่กำลังซบเซาของประเทศด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตถุงยางในปีหน้า
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่รัฐเซลังงอร์แห่งนี้ ประกาศจะเพิ่มกำลังการผลิตถุงยางอนามัยในปีหน้า หลังการเปิดขายหุ้นต่อสาธารณชน โดยโก๊ะห์ มีอะห์ห์ เกี๊ยต ผู้อำนวยการบริหารของบริษัทแสดงความมั่นใจว่า หลังจากที่บริษัทของเขากลายเป็น “มหาชน” น่าจะทำให้การเพิ่มกำลังการผลิตทำได้ไม่ยากนักนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และการขยายกำลังการผลิตนี้เอง ที่จะช่วยปลุกให้อุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซียกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง พร้อมเผยว่าทางบริษัทยังมีคำสั่งซื้อถุงยางอนามัยคุณภาพดีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากตลาดบราซิล สหรัฐฯ และจีน รวมถึง การผลิตถุงยางอนามัยเพื่อป้อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆของทางองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
“ในขณะที่การผลิตสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารากำลังประสบปัญหา แต่ความต้องการถุงยางอนามัยในตลาดโลกกลับยังคงเติบโตได้อย่างสวนกระแส ” โก๊ะห์ มีอะห์ห์ เกี๊ยต กล่าวพร้อมเผยว่า ทางบริษัทมีแผนขยายการนำยางพารา “เมด อิน มาเลเซีย” มาแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น ถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ เช่นกัน
ท่าทีล่าสุดของผู้บริหาร “แคเร็กซ์ อินดัสตรีส์” มีขึ้น หลังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในมาเลเซียกำลังซบเซาอย่างหนักทั้งที่มาเลเซียเคยครองความเป็นอันดับหนึ่งในตลาด แต่ในระยะหลังกลับถูกยางพาราจากประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงอินเดียและอินโดนีเซียแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตกต่ำผันผวนของราคายางในตลาดโลก ทำให้เกษตรกรในมาเลเซียจำนวนไม่น้อยหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นที่กำลังมาแรงอย่าง “ปาล์มน้ำมัน” แทน
แม้การส่งออกยางพาราของมาเลเซียเมื่อปีที่แล้วจะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 6 ของการส่งออกทั้งหมด แต่เป็นที่คาดกันว่าผลผลิตยางธรรมชาติเพื่อการส่งออกของมาเลเซียในปีนี้อาจลดลง จนเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.6 หรือเพียง 950,000 เมตริกตันเท่านั้น และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป มาเลเซียอาจต้องหลุดโผจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ “ท็อป ทรี” ของโลกภายในระยะเวลา 2-5 ปีข้างหน้า โดยอาจมีปริมาณผลผลิตตามหลังอินเดียและเวียดนาม หากยังไม่มีการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศอย่างจริงจัง