เอเอฟพี – แม้หลายคนเริ่มไม่มั่นใจว่า เอเชียจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้จริง หลังจากไอเอ็มเอฟเตือนให้ภูมิภาคนี้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากตะวันตก ตามด้วยเอดีบีลดการคาดการณ์การเติบโต กระนั้น นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่า เอเชียยังมีช่องทางตั้งรับผลกระทบจากภายนอกทั้งด้านการเงินและการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติอาเซียนที่อาศัยดีมานด์ภายในที่แข็งแกร่งลดทอนผลจากตลาดส่งออกซบ
วิกฤตหนี้ยุโรปและการฟื้นตัวอ่อนแอในอเมริกาเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจเอเชียมาพักใหญ่แล้ว แต่ปัจจัยใหม่ที่ผสมโรงเข้ามาและทำให้แนวโน้มของภูมิภาคนี้หมองลงคือ อุปสรรคขวากหนามในการผ่องถ่ายอำนาจของจีน
ชูว์ หงปิน และเฟรเดอริก นิวแมนน์ นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี ชี้ว่า ขณะนี้จีนเป็นปัจจัยเสี่ยงพอๆ กับตะวันตก
ความที่เศรษฐกิจของมหาอำนาจเอเชียทั้งจีนและอินเดียชะลอตัวเร็วกว่าคาด กลางสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จึงตัดสินใจปรับลดแนวโน้มการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 6.1% จากที่คาดไว้ 6.9% ในเดือนเมษายน พร้อมตอกย้ำการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ด้วยการเตือนความเสี่ยงสำคัญจากยูโรโซนและการฟื้นตัวที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของผู้ผลิตเอเชีย
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์กำลังสงสัยว่า เมื่อใดปักกิ่งจะออกมาตรการกระตุ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง
ชูว์และนิวแมนเชื่อว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปักกิ่งดูเหมือนไม่เต็มใจหรือไม่สามารถนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมากระตุ้นการเติบโตได้ก็คือ การที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะผลัดเปลี่ยนผู้นำตามที่กระทำกันมาทุกสิบปี ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งภายใน
นักวิเคราะห์จากเอชเอสบีซีแจงว่า เนื่องจากการเติบโตได้แรงกระตุ้นจำนวนมากจากการลงทุนโดยเฉพาะในภาครัฐ ดังนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้อาจเป็นตัวจำกัดการตัดสินใจในการลงทุน
ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า ในระหว่างการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกรอบกลางปีของไอเอ็มเอฟที่จะมีรัฐมนตรีคลังจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมที่โตเกียววันอังคารนี้ (9) จะมีการตอกย้ำแนวโน้มที่แย่ลงของเอเชีย
กระนั้น นักวิเคราะห์บางคนไม่คิดว่า พลังเศรษฐกิจเอเชียวูบลง ทว่า เป็นช่วงของการปรับตัวก่อนที่การเติบโตจะเดินหน้าในระดับที่คุ้นเคยขึ้น หูว์และนิวแมนน์คาดว่า พญามังกรจะผ่อนคลายนโยบายต้นเดือนหน้า หลังจากผู้นำใหม่ขึ้นรับตำแหน่งแล้ว
ชางยอง รี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี เห็นด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องแตกตื่นตกใจ เนื่องจากเป็นการปรับตัวตามปกติก่อนที่เศรษฐกิจเอเชียจะก้าวย่างในจังหวะการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้น
แคปิตอล อิโคโนมิกส์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัย ขานรับว่า ในบรรดาภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากยุโรปและอเมริกานั้น เอเชียมีช่องทางในการรับมือด้วยนโยบายการเงินและการคลังมากที่สุด อาทิเช่น ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ขณะเดียวกัน ในรายงานของเอเอ็นแซดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า เศรษฐกิจจีนและอินเดียกำลังซบลง ขณะที่เศรษฐกิจหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความยืดหยุ่นกว่าอย่างชัดเจน เนื่องจากพึ่งพิงอุปสงค์ภายในมากกว่าอุปสงค์ในตลาดส่งออกที่กำลังตกต่ำ ส่งผลให้ประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม สามารถประคับประคองตัวได้เป็นอย่างดีหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีก