xs
xsm
sm
md
lg

‘สิงคโปร์’หาวิธีทำให้พลเมืองยอมมีลูกมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: คาลิงกา เสเนวิรัตเน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

How to make more Singaporean babies
By Kalinga Seneviratne
06/09/2012

อัตราเกิดในสิงคโปร์ที่กำลังลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำให้มีความวิตกกังวลกันว่า นครรัฐแห่งนี้จะต้องเผชิญกับความหายนะทางด้านโครงสร้างประชากรในระยะยาว ดังนั้นเราจึงได้เห็นรัฐบาลออกมาป่าวร้องเชื้อเชิญให้สาธารณชนเสนอแนะไอเดียเกี่ยวกับวิธีการที่จะกระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนยินดีที่จะมีบุตรกันมากขึ้น ขณะที่นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนกล่าวโทษว่าอัตราการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งนั่นแหละ คือตัวการทำให้ผู้คนพากันถอยหนีจากหน้าที่แห่งการเป็นบิดามารดา และมุ่งสนใจอยู่ที่ความก้าวหน้าทางอาชีพการงานของพวกเขาเอง แต่อีกหลายๆ คนก็ชี้ไปที่ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งมีแรงกดดันบีบคั้นต่อพ่อแม่ผู้ปกครองสูงเหลือเกิน

สิงคโปร์ – คำถามที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวสิงคโปร์ยินยอมมีบุตรกันมากขึ้น กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งในการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศเล็กๆ ขนาดนครรัฐแห่งนี้ อีกทั้งรัฐบาลแห่งสิงหปุระเองก็กำลังกระตุ้นส่งเสริมให้ประชาชนแสดงทัศนะความคิดเห็นในประเด็นนี้

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้ใช้คำปราศรัยเนื่องในวันชาติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาของเขา เพื่อย้ำยืนยันกับประเทศที่มีประชากรประมาณ 4 ล้านคนแห่งนี้ว่า รัฐบาลของเขาจะ “ทำการลงทุนระยะยาวที่สำคัญที่สุดกับประชาชนของเรา” ด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางด้านการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน และการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

คำมั่นสัญญาของเขาที่จะเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา โดยเฉพาะในระดับเด็กก่อนวัยเรียนเช่นนี้ คือการสนองตอบต่อความวิตกกังวลที่ว่า ภาวะเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ยังคงลดฮวบลงมาอย่างน่าใจหายตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในทางด้านเศรษฐกิจ อัตราเกิดในปัจจุบันซึ่งอยู่แค่ 1.2 ต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์แต่ละคน ยังคงต่ำเตี้ยนักจากตัวเลข 2.1 อันเป็นระดับที่จำเป็นสำหรับการประคับประคองไม่ให้จำนวนประชากรของสิงคโปร์ลดต่ำลงไปจากตัวเลขในปัจจุบัน

ประเด็นปัญหานี้ยิ่งได้รับความสนอกสนใจเพิ่มขึ้นมาก หลังจากที่ ลี กวนยู รัฐบุรุษวัย 91 ปีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวปราศรัยในงานเลี้ยงอาหารค่ำเนื่องในวันชาติในเขตเลือกตั้งของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเตือนว่าประเทศชาติกำลังเผชิญทางเลือก 2 ทางในการรักษาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเอาไว้ให้ได้ นั่นคือ ประชาชนต้องมีบุตรมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมรับผู้อพยพเข้าเมืองเพิ่มขึ้น แต่ “ถ้าเรายังเดินหน้าในสภาพเช่นในปัจจุบันนี้ต่อไปแล้ว ประเทศนี้ก็จะต้องประสบความล้มเหลวแน่นอน” เขากล่าว

เวลานี้รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่ใช้ชื่อว่า สำนักงานประชากรและผู้มีความรู้ความสามารถแห่งชาติ (National Population and Talent Division ใช้อักษรย่อว่า NPTD) ซึ่งได้ออกมารณรงค์เชื้อเชิญให้สาธารณชนเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการในการเพิ่มอัตราเกิดที่เอาแต่ลดลงของสิงคโปร์ คาดหมายกันว่าหน่วยงานใหม่แห่งนี้จะสามารถรวบรวมและจัดทำข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาภายในสิ้นปีนี้

สมาคมสตรีเพื่อการปฏิบัติการและการวิจัย (Association of Women for Action and Research หรือ AWARE) ซึ่งเป็นองค์การสตรีชั้นนำของสิงคโปร์ เป็นรายหนึ่งที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อ NPTD เมื่อเร็วๆ นี้ โดยแสดงความคิดเห็นว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิตนั่นแหละคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องการมีบุตรมากขึ้น องค์การนี้จึงเรียกร้องให้นโยบายของภาครัฐจัดลำดับความสำคัญให้แก่เรื่องความเท่าเทียมกันของชาย-หญิง

คอรินนา ลิม (Corinna Lim) กรรมการบริหารของ AWARE กล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter-Press Service หรือ IPS) ว่า มีประเด็นจำนวนมากในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพนี้ที่รัฐบาลควรที่จะต้องเข้ามาแก้ไข เป็นต้นว่า การที่ผู้หญิงมีอัตราการมีงานทำต่ำกว่าผู้ชาย, ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบริการรับดูแลเด็กในเวลาที่พ่อแม่ไปทำงาน, ตลอดจนการที่ต้องพึ่งพาอาศัยคนงานต่างชาติมาทำงานเป็นแม่บ้าน, รวมทั้งเรื่องแรงกดดันต่อมารดาทั้งหลายให้ต้องดิ้นรนหาทางให้ลูกๆ ของพวกเธอได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงๆ

“เรื่องคุณภาพชีวิตถ้าหากจะต้องมีลูก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง (ซึ่งทำให้ผู้คนเกิดความลังเลที่จะมีบุตร)” เธอกล่าว “ถ้าคุณกำลังคิดที่จะมีลูก แล้วก็มองเห็นเลยว่า ถ้าฉันมีลูกฉันก็จำเป็นต้องใช้เงินทองมากมายเหลือเกิน เมื่อเป็นอย่างนี้ ลงท้ายคุณก็คงตัดสินใจว่าอย่ามีลูกดีกว่า”

ขณะที่ สังกีธา มาดาซามี (Sangeetha Madasamy) บัณฑิตมหาวิทยาลัยวัย 24 ปีผู้จบการศึกษาทางด้านสังคมวิทยาแล้วมาทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัย เล่าให้ไอพีเอสฟังว่า เธอปรารถนาที่จะแต่งงานและมีบุตรสัก 3 คน “ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องดีเยี่ยมไปเลยที่จะมีลูกมากกว่า 1 คน แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับภาวะค่าครองชีพ” เธอกล่าว “ดิฉันเพิ่งเริ่มต้นทำงาน แล้วดิฉันยังมีภาระต้องผ่อนจ่ายเงินกู้เพื่อการศึกษาของดิฉันอยู่แล้ว นอกจากนั้นดิฉันยังต้องการที่จะศึกษาต่ออีกด้วย”

ทางด้าน ลอรา หวัง (Laura Hwang) ประธานสภาองค์การสตรีแห่งสิงคโปร์ (Singapore Council of Women's Organizations) ยอมรับว่า ความมุ่งมาดคาดหวังในเรื่องการได้ใช้ชีวิตตามสไตล์ที่ปรารถนา คือปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจว่าจะสร้างครอบครัวดีหรือไม่

“คู่หนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัดสินชะลอการแต่งงานและการมีลูกออกไปก่อน จนกระทั่งพวกเขาสามารถตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างรวงรังของพวกเขาเองได้แล้ว ขณะที่ถ้าเป็นเมื่อก่อน คู่หนุ่มสาวพร้อมยอมรับมากกว่า ว่าจะต้องอยู่กับพ่อแม่ไปก่อน จากนั้นจึงค่อยไปหารวงรังของตัวเอง” เธอบอกกับไอพีเอส

“นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลกันมากขึ้นจนต้องเลื่อนการแต่งงานและการมีลูกออกไปก่อน เป็นต้นว่า ความคาดหวังเกี่ยวกับหน้าที่การงาน, การที่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ, และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพของแต่ละคน” เธอกล่าวต่อ

เนื่องจากพำนักอาศัยในประเทศเล็กๆ ซึ่งมีบริษัทจำนวนมากไปมีกิจการในต่างประเทศ หรือไม่เช่นนั้นบริษัทในสิงคโปร์ก็มีฐานะเป็นสำนักงานระดับภูมิภาคให้แก่การดำเนินงานระดับระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เองผู้ทำงานวิชาชีพที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงต้องเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท

นอกจากนั้นการที่สิงคโปร์มีค่านิยมที่เน้นหนักให้ความสำคัญอย่างแรงกล้าแก่เรื่องความเป็นเลิศในทางวิชาการและความเป็นเลิศในทางการงานอาชีพ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้แก่ผู้เป็นมารดาในเรื่องของการต้องขวนขวายหาทางให้ลูกๆ ของเธอได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด “เรามีระบบการศึกษาที่สอนกันในระดับหนึ่ง แต่ในการสอบกลับเรียกร้องสูงขึ้นไปกว่านั้น” ลิมแห่ง AWARE ตั้งข้อสังเกต “สิ่งที่จะอุดช่องว่างตรงนี้ได้ก็คือการเรียนพิเศษ และก็เป็นหน้าที่ของผู้เป็นแม่นั่นแหละที่จะต้องพาลูกๆ ไปยังทุกที่ทุกแห่ง”

“เราได้พบเห็นกรณีหลายๆ กรณีทีเดียวที่เมื่อลูกเรียนอยู่ในระดับมัธยมแล้วสอบไม่ได้เกรดดีๆ แม่ก็ตัดสินใจลาออกจากงาน เธอรู้สึกว่าถ้าหากลูกเรียนไม่ดีแล้ว เธอคงจะต้องโทษตัวเองว่าเป็นความผิดของเธอเองไปจนตลอดชีวิตทีเดียว” ลิมเล่า

หวัง ประธานสภาองค์การสตรีแห่งสิงคโปร์เสริมว่า “สิ่งที่จะมีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตัดสินใจของสตรีวัยสาวที่เป็นนักวิชาชีพว่าเธอจะมีลูกหรือไม่ ก็คือ การที่ทั้งเธอและสามีจะสามารถแบ่งปันรับผิดชอบในการดูแลลูกและการเลี้ยงดูลูกได้อย่างแข็งขันจริงจังแค่ไหน ตลอดจนมีเครือข่ายการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด” เธอเสนอแนะว่าที่ทำงานควรต้องยินยอมให้ทั้งผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่มีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ จาซินตา เหลียว (Jacinta Leow) ผู้บริหารวัย 33 ปีของบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่ง และเป็นมารดาของบุตรอายุ 2 ขวบ ร้องทุกข์ว่า “ในสิงคโปร์ บริษัทจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบริษัทท้องถิ่น ไม่มีความเป็นมิตรกับชีวิตครอบครัวเลย ดังนั้นผู้หญิงจึงต่างหวาดกลัวว่าจะต้องเสียงานของพวกเธอไปเมื่อเธอตั้งท้อง” ตัวเธอเองก็ต้องตัดสินใจลาออกจากงานเดิมเมื่อเธอตั้งครรภ์ และเริ่มต้นหางานใหม่ภายหลังจากคลอดและเลี้ยงดูลูกของเธอได้ 1 ปี

“มันจะช่วยได้มากจริงๆ ถ้ารัฐบาลจะจริงจังมากขึ้นในการเล่นงานพวกบริษัทที่เที่ยวหาข้ออ้างที่ฟังดูสวยงามมาไล่ผู้หญิงออกหลังจากที่พวกเธอตั้งท้อง” เหลียวบ่นกับไอพีเอส “นอกจากนั้นผู้หญิงควรได้รับหลักประกันทางกฎหมายว่า พวกเธอสามารถที่จะลางานไปเลี้ยงลูกเป็นเวลา 1 ปีได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียงานที่ทำอยู่”

ในปัจจุบันสิงคโปร์ยังไม่มีกฎหมายที่ให้สิทธิผู้เป็นพ่อลางานไปช่วยเลี้ยงลูก ลิมอธิบายว่าเนื่องจากประเทศนี้คงยังถือว่าการเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ของมารดา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “เราจะต้องให้ความสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งแก่ผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่ เราจำเป็นต้องให้พ่อกับแม่ช่วยกันเลี้ยงดูลูก”

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สภาแรงงานแห่งชาติ (National Trades Union Congress) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายแรงงานในสิงคโปร์ ได้เสนอแนะให้รัฐบาลออกกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้เป็นพ่อลางานไปเลี้ยงดูบุตรได้ และนายกรัฐมนตรีลีก็แสดงท่าทีเป็นนัยๆ ในคำปราศรัยเนื่องในวันชาติของเขาว่า เรื่องนี้สมควรที่จะได้รับการพิจารณา

แต่ปรากฏว่าสหพันธ์นายจ้างแห่งชาติของสิงคโปร์ (Singapore National Employers Federation) แสดงท่าทีคัดค้านความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

เอียน ตัน (Ian Tan) พ่อวัย 36 ปีของลูก 2 คนที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ “ทูเดย์” (Today) ระบุว่า “การเน้นหนักให้ความสำคัญอย่างไม่บันยะบันยังแก่เรื่องเกรดในการสอบและทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวย โดยถือว่ามันเป็นมาตรวัดอันสำคัญที่สุดของความสำเร็จนั้น กำลังนำพาสังคมของเราให้กลายเป็นสังคมที่ผู้คนจำนวนมากต้องการประสบความสำเร็จในทางวัตถุเป็นอันดับแรกเสียก่อน แล้วจึงจะเกิดความต้องการที่จะตั้งครอบครัว

“ถ้าหากมีชาวสิงคโปร์จำนวนมากได้รับโอกาสที่จะมีไลฟ์สไตล์ที่สมดุลมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างคุณูปการให้แก่ความก้าวหน้าของประเทศชาติไปด้วย แน่นอนทีเดียวว่าไม่ใช่จะมีเพียงเฉพาะอัตราเกิดเท่านั้นหรอก ที่จะกระเตื้องพุ่งพรวดสูงขึ้นไป” เขายืนยัน

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
‘สิงคโปร์’เป็นโมเดลที่เลวสำหรับ‘พม่า’ (ตอนแรก)
สิงคโปร์จัดเป็นเพื่อนมิตรที่โดดเด่นของพม่าทีเดียว ในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษที่แดนหม่องตกอยู่ใต้การปกครองอันมืดมิดยาวนานของฝ่ายทหาร ครั้นมาถึงเวลานี้ประเทศนี้กำลังเสนอตัวต่อพม่าว่าจะแนะนำเคล็ดลับวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับโลกได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของ “สิงหะปุระ” แห่งนี้ แลดูอร่ามแวววับเหมาะสมแก่การเป็นแบบอย่างอันเหมาะเจาะ ทว่าโมเดลที่มุ่งเน้นการควบคุมโดยรัฐของสิงคโปร์ กลับเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูป ควรที่จะต้องพยายามหลีกหนีไปให้ไกลๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น