เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เกาหลีใต้และญี่ปุ่นระงับความร่วมมือระหว่างกองทัพเป็นการชั่วคราว หลังเกิดกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลญี่ปุ่นซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมถอย เจ้าหน้าที่กลาโหมเผยวันนี้(3)
ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศและทางเรือของญี่ปุ่นได้ยกเลิกแผนเดินทางเยือนเกาหลีใต้ ซึ่งเดิมมีกำหนดในวันนี้(3) ขณะที่กรุงโซลก็ยกเลิกการส่งผู้บัญชาการกองทัพเรือและกองทัพอากาศไปเยือนโตเกียวเช่นกัน โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลง
“คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับเพียงชั่วคราว เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังตึงเครียด”
ความบาดหมางครั้งล่าสุดระหว่างโสมขาวกับแดนปลาดิบเกิดจากการแย่งชิงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพิพาทในทะเลญี่ปุ่น (ทะเลตะวันออก) ซึ่งมีชื่อในภาษาเกาหลีว่า ด๊กโด ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเรียกขานหมู่เกาะแห่งนี้ว่า ทาเกชิมะ
เจ้าหน้าที่กระทรวงเตือนว่า หากข้อพิพาททวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อาจส่งผลกระทบถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออื่นๆระหว่างกองทัพทั้ง 2 ชาติ
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เริ่มสั่นคลอน หลังจากประธานาธิบดี ลี เมียงบัค เดินทางไปเยือนหมู่เกาะด๊กโดอย่างเหนือความคาดหมาย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เดินทางไปถึงหมู่เกาะแห่งนี้
ลี ระบุว่า การเดินทางของเขามีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นยอมชดเชยความเสียหายแก่สตรีเกาหลีที่ตกเป็นทาสบำเรอกามของทหารญี่ปุ่น ระหว่างที่คาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อช่วงปี 1910-1945
ไม่เพียงเท่านั้น ลี ยังสร้างความตะลึงพรึงเพริดแก่รัฐบาลโตเกียวโดยเรียกร้องให้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงขออภัยในความผิดครั้งอดีต หากทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯเยือนแผ่นดินเกาหลีในอนาคต
โตเกียวตอบโต้ท่าทีแข็งกร้าวของ ลี โดยสั่งยกเลิกการประชุมรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม และจะทบทวนข้อตกลงสวอปเงินตราต่างประเทศกับโซลด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นยังกล่าวเป็นนัยๆว่า อาจระงับโครงการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งบรรลุข้อตกลงกันไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้
เกาหลีใต้ยืนกรานปฏิเสธข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ต้องการให้นำประเด็นหมู่เกาะด๊กโด/ทาเกชิมะขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้อ้างว่า หมู่เกาะแห่งนี้เป็นของเกาหลีใต้อย่างชัดแจ้ง “ทั้งในด้านประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และกฎหมายระหว่างประเทศ”