xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟิลิปปินส์’กับ‘ไทย’ไปกันคนละทางในการตอบสนองยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: จูเลียส ซีซาร์ ไอ ตราจาโน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Old allies, new dynamics in US pivot
By Julius Cesar I Trajano
30/08/2012

สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะชุบชีวิตรื้อฟื้นความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับ 2 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ ฟิลิปปินส์และไทย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์หวนกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญแก่เอเชียของวอชิงตัน แต่แล้วสหรัฐฯกลับพบว่าความสำเร็จและความล้มเหลวของตนในเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการเมืองภายในประเทศของ 2 ชาตินี้เองเป็นอย่างมาก มะนิลานั้นอ้าแขนต้อนรับความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ภาพลักษณ์ของฟิลิปปินส์เองในการคัดค้านความก้าวร้าวทางนาวีของปักกิ่ง ทว่ากรุงเทพฯกลับต่อต้านการเกี้ยวพาของวอชิงตัน เนื่องจากต้องการที่จะรักษาสายสัมพันธ์กับจีนที่กำลังเบ่งบานสดสวยเอาไว้

สิงคโปร์ – ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่หวนกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญแก่เอเชีย-แปซิฟิกอีกคำรบหนึ่งนั้น กำหนดจุดมุ่งหมายเอาไว้ประการหนึ่งว่าจะรื้อฟื้นชุบชีวิตความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ตนเองได้เคยทำเอาไว้กับพวกประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคแถบนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์กับไทยคือชาติที่ได้ทำสัญญาข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯมายาวนานแล้ว ถึงขนาดที่ทำให้ 2 ประเทศนี้ได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ของอเมริกา และโดยเฉพาะในกรณีของฟิลิปปินส์นั้น ได้รับหลักประกันด้านการป้องกันร่วมกันอีกด้วย นั่นก็คือ ถ้าหากฟิลิปปินส์ถูกโจมตีโดยประเทศที่สาม สหรัฐฯก็มีพันธะจะต้องเข้าช่วยเหลือปกป้อง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าฟิลิปปินส์และไทย แสดงการตอบสนองที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างถนัดชัดเจน ต่อความพยายามของสหรัฐฯที่จะรื้อฟื้นปฏิสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมาใหม่ ขณะที่มะนิลาต้อนรับการปรากฏตัวทางทหารของอเมริกาอย่างอบอุ่นยินดี กรุงเทพฯกลับหันไปใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งป้องกันและลดทอนความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น (hedging strategy) ทั้งนี้ด้วยจุดประสงค์ที่จะรักษาสายสัมพันธ์อันมีชีวิตชีวาที่ตนเองกำลังมีอยู่กับจีน สายสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับกรุงเทพฯและมะนิลาในเวลานี้ จึงได้รับอิทธิพลจากปัจจัยสำคัญยิ่งยวดรวม 2 ประการ ได้แก่ (1) ความรับรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าอะไรคือภัยคุกคามที่กำลังดำรงอยู่ในเวลานี้ และ (2) ผลประโยชน์ภายในประเทศทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

ฟิลิปปินส์นั้นถือว่าเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่ทรงความสำคัญมากแห่งหนึ่งสำหรับกองทัพอเมริกัน และในเวลานี้มะนิลาก็กำลังเสนอให้สหรัฐฯสามารถเข้าไปใช้สิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนายความสะดวกทางทหารของตนได้มากขึ้น โดยขอแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือเพื่อทำให้กองทัพของตนมีความทันสมัยยิ่งขึ้น รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ยินดีต้อนรับให้อเมริกาเข้าไปติดตั้งประจำการระบบ “เอ็กซ์แบนด์” (X-band) ทั้งนี้ตามแผนการของวอชิงตันนั้น ต้องการจะติดตั้งประจำการระบบเรดาร์เตือนภัยรุ่นใหม่ที่มีกำลังแรงมากนี้ในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ แผนการนี้ถูกบางฝ่ายบางคนมองว่า มันคือส่วนแกนกลางของการสร้างสมกำลังการป้องกันของสหรัฐฯในแถบเอเชีย เพื่อใช้ตอบโต้ภัยคุกคามจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อย่างเกาหลีเหนือ และเพื่อเป็นการปิดล้อมจำกัดเขตมหาอำนาจทางทหารที่กำลังพุ่งแรงขึ้นมาอย่างประเทศจีน

ยิ่งในเวลานี้เมื่อความตึงเครียดกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในทะเลจีนใต้ ทำให้ความเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ บังเกิดแง่มุมใหม่เพิ่มขึ้นมา กล่าวคือ ทั้งสองประเทศต่างมองว่า การก้าวผงาดขึ้นมาของจีนกำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่กำลังดำรงอยู่ในเวลานี้ และเป็นที่รับรู้เป็นที่เข้าใจกันว่า สนธิสัญญาร่วมป้องกันระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ซึ่งจัดทำกันเอาไว้ตั้งแต่ปี 1951 คือสิ่งที่สามารถใช้ป้องปรามการที่จีนกำลังค่อยๆ คืบคลานบุกรุกเข้าสู่อาณาบริเวณทางทะเลโดยรอบ รวมทั้งหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่หลายชาติกำลังอ้างกรรมสิทธิ์ช่วงชิงกันอยู่

ภายหลังการเผชิญหน้ากันทางนาวีระหว่างมะนิลากับปักกิ่งในเดือนเมษายนปีนี้ วอชิงตันก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่มะนิลาเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัว, จัดส่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกัน 2 ลำแล่นไปแวะเยือนอ่าวซูบิกของฟิลิปปินส์หลายต่อหลายครั้ง, อีกทั้งยังส่งกำลังทหารอเมริกันหลายพันคนและเรือรบอเมริกันหลายๆ ลำเข้าร่วมในการฝึกซ้อมทางทหารกับกองทัพฟิลิปปินส์

ทางด้านประเทศไทยนั้นก็เป็นพันธมิตรชนิดที่มีการทำข้อตกลงผูกพันกับสหรัฐฯไว้ตั้งแต่ปี 1954 อีกทั้งได้รับการยกระดับปรับชั้นขึ้นเป็นพันธมิตรนอกองค์การนาโต้ (non-NATO ally) รายสำคัญของอเมริกาในปี 2003 เพื่อเป็นการตอบแทนกรุงเทพฯที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในสงครามต่อสู้การก่อการร้ายของฝ่ายวอชิงตัน ทว่าในบัดนี้เนื่องจากไทยมีสายสัมพันธ์กับจีนเพิ่มพูนขึ้นมากมายทั้งในเชิงพาณิชย์และในทางทหาร กรุงเทพฯจึงมีความปรารถนาน้อยลงที่จะเปิดให้สหรัฐฯใช้ดินแดนของตนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ของวอชิงตัน

สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับท่าทีเช่นนี้ ได้แก่การที่คณะรัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติในเดือนมิถุนายนที่จะยินยอมให้รัฐสภาทำการตรวจสอบเจาะค้นรายละเอียด เกี่ยวกับคำขอขององค์การนาซาของสหรัฐฯที่จะใช้ฐานทัพอากาศอู่ตะเภา เพื่อการศึกษาทางด้านภูมิอากาศ หลังจากที่พวกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านโต้แย้งว่าการอนุญาตตามคำขอของฝ่ายสหรัฐฯ อาจเป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนที่กำลังดำเนินไปอย่างโลดลิ่ว และแล้วรัฐบาลไทยก็ปล่อยให้กำหนดเส้นตายวันที่ 26 มิถุนายนผ่านพ้นไปโดยไม่ได้ตอบอะไร จากนั้นนาซาจึงถอนคำขอของตน

ฐานทัพอากาศที่อู่ตะเภานั้น สหรัฐฯได้ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และต่อมาก็ยังได้ใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถานและอิรัก ตลอดจนการปฏิบัติการเพื่อการแทรกแซงทางด้านมนุษยธรรม เป็นต้นว่า ในช่วงหลังจากเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2004 ปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯยังคงได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปใช้อู่ตะเภา โดยผ่านการซ้อมรบประจำปี “คอบราโกลด์” (Cobra Gold) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย และมีตัวแสดงระหว่างประเทศอื่นๆ หลายหลากเข้าร่วมด้วย ในเบื้องต้นทีเดียว นาซาวางแผนการที่จะใช้ฐานทัพอากาศแห่งนี้เพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และคำขอดังกล่าวได้ถูกบางฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามแอบแฝงเพื่อสอดแนมสืบความลับเกี่ยวกับจีน

ไม่เหมือนกับในช่วงทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 เมื่อตอนที่จีนยังหนุนหลังสงครามจรยุทธ์ของพวกคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในปัจจุบันวอชิงตันกับกรุงเทพฯไม่ได้มีสิ่งที่เห็นเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เพิ่มพูนยกระดับความเป็นพันธมิตรกันที่มีอยู่แล้วให้แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก “การขาดดุลทางด้านภัยคุกคาม” เช่นนี้แหละที่กำลังส่งผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับไทยในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้ ถึงแม้ไทยอาจจะมีความกังวลอยู่เหมือนกันเกี่ยวกับท่าทีของจีนที่มองเห็นกันว่ามีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กรุงเทพฯก็ให้คุณค่าอย่างสูงต่อความสัมพันธ์อันสดใสรุ่งเรืองที่มีอยู่กับปักกิ่งทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับไทยน่าที่จะเรียกได้ว่าอยู่ในอาการนิ่งงัน ไทยกับจีนกลับมีการยกระดับสายสัมพันธ์ของพวกเขาขึ้นสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (comprehensive strategic cooperative partnership) ในระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีไทย พร้อมกับคณะผู้แทนระดับสูงทั้งทางทหารและทางด้านอื่นๆ เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนเมษายนปีนี้ มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ดีว่าทำไมความสัมพันธ์จีน-ไทย จึงสามารถพัฒนาขึ้นไปอย่างแข็งแรงมั่นคงเช่นนี้ นั่นก็คือ การที่ทั้งสองประเทศไม่ได้มีข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนอะไรกันเลย (ไทยนั้นไม่เหมือนกับเพื่อนประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนรายอื่นๆ อย่างเช่น บรูไน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, และเวียดนาม กล่าวคือ ไทยไม่ได้มีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ซึ่งเกิดการช่วงชิงกันอยู่ในทะเลจีนใต้เลย)

**เศรษฐศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์**

พฤติกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในระยะหลังๆ นี้ของไทย ได้รับการขับดันจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน กรุงเทพฯกำลังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากการผงาดขึ้นมาในทางเศรษฐกิจของจีน ถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐฯยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งในไทย แต่จีนต่างหากคือตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย การค้าจีน-ไทยนั้นมีมูลค่า 64,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2011 ทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นจากการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน

จีนยังให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขันต่อโครงการการฟื้นฟูบูรณะและการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ภายหลังจากต้องเผชิญอุทกภัยที่สร้างความวิบัติหายนะในปีที่แล้ว ในเมื่อไทยได้รับผลประโยชน์จากการทูตแบบอำนาจละมุน (soft power diplomacy) ของจีนเช่นนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่กรุงเทพฯกำลังหันมาใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งป้องกันและลดทอนความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนในฟิลิปปินส์ สหรัฐฯยังคงเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) รายใหญ่ที่สุด และเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยที่การค้าทวิภาคีสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ มีมูลค่าอยู่ในระดับ 13,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2011 ยังคงสูงกว่าเล็กน้อยจากมูลค้าของการค้าจีน-ฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ที่ 12,100 ล้านดอลลาร์ ในหลายๆ กรณีการที่จีนพยายามเบ่งกล้ามสำแดงกำลังทางเศรษฐกิจต่อฟิลิปปินส์ กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้มะนิลาขยับเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เป็นต้นว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตอนที่ปักกิ่งพยายามลงโทษมะนิลา ด้วยการห้ามนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรชาวฟิลิปปินส์ 200,000 คน อีกทั้งทำให้การส่งออกของแดนตากาล็อกย่ำแย่ลงนั้น สหรัฐฯก็ได้เสนอตัวเข้าซื้อกล้วยที่ยังล้นเกินขายไม่ออกของฟิลิปปินส์

นอกจากนั้น การที่สายสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯกับไทยอยู่ในสภาพนิ่งงัน ยังมีสาเหตุมาจากการเมืองภายในประเทศที่แสนจะปั่นป่วนวุ่นวายของไทย นับตั้งแต่ที่ฝ่ายทหารของไทยได้โค่นล้มอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงจากตำแหน่งในปี 2006 เป็นต้นมา กรุงเทพฯก็เน้นหนักให้ความสำคัญกับการเมืองภายในประเทศ และลดความสำคัญของเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศลงไปมาก ฝ่ายค้านรายสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโจมตีว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการอนุมัติคำขอของนาซา ก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วอชิงตันจะยินยอมออกวีซาให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชายของเธอผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาและกำลังอยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ เพื่อที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้สามารถเดินทางไปสหรัฐฯได้ กระนั้นก็ตามที ขณะที่โครงการของนาซาถูกระงับไปนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังคงได้รับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ แม้มีรายงานข่าวของสื่อหลายๆ รายระบุว่า เขาได้รับคำเตือนแนบมาด้วย ไม่ให้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน

สำหรับในฟิลิปปินส์ การเมืองภายในประเทศภายใต้คณะรัฐบาลประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน กลับอยู่ในลักษณะที่โน้มนำไปสู่การที่สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ยิ่งกระชับเพิ่มพูนความเป็นพันธมิตรกันอย่างมีชีวิตชีวา ผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ในแดนตากาล็อก ยกเว้นแต่พวกพรรคการเมืองแนวชาตินิยมเอียงซ้ายแล้ว ต่างหนุนหลังความพยายามของอากีโนที่จะยกระดับสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพื่อเป็นตัวคานความก้าวร้าวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในทะเลจีนใต้ น่าสังเกตว่าอากีโนนั้นเดินทางไปกรุงวอชิงตันหลายต่อหลายเที่ยว เพื่อขอให้เพิ่มความร่วมมือกันในเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนขอให้สหรัฐฯจัดส่งอาวุธต่างๆ แก่ฟิลิปปินส์

ไม่เหมือนกับ กลอเรีย มากาปากัลป์-อาร์โรโย ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อนหน้าเขา อากีโนนั้นดูจะมีความเต็มใจน้อยกว่าที่จะยอมรับแรงจูงใจเชิงพาณิชย์จากปักกิ่ง ภายหลังที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วยการเสนอหลักนโยบายที่มุ่งต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น อากีโนก็ได้สั่งยกเลิกโครงการจำนวนหนึ่งที่ได้รับเงินทุนจากจีนและตกเป็นข้อครหาในเรื่องความไม่ชอบมาพากล การปรับสมดุลทางการทูตของเขาเช่นนี้ เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในชาติพอดิบพอดี กล่าวคือ ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดย โซเชียล เวเธอร์ สเตชั่น (Social Weather Station) ซึ่งทำกันในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่า 55% ของชาวฟิลิปปินส์กล่าวว่าพวกเขาแทบไม่มีความไว้วางใจจีนเลย ถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดเป็นสถิติใหม่ทีเดียว ขณะที่คนตากาล็อก 62% บอกว่ามีความไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐฯ

ในขณะที่วอชิงตันกำลังพยายามที่จะดำเนินยุทธศาสตร์ของตนซึ่งหันกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญแก่เอเชียอยู่นี้ การมองเห็นพ้องร่วมกันหรือการมองเห็นผิดแผกแตกต่างกัน ว่าอะไรคือภัยคุกคามที่กำลังดำรงอยู่ในเวลานี้ กลายเป็นปัจจัยตัดสินว่าสหรัฐฯจะสามารถพัฒนาความร่วมมือทางด้านการป้องกันกับฟิลิปปินส์และไทยได้อย่างล้ำลึกขนาดไหน ขณะที่ผลประโยชน์ภายในท้องถิ่นทั้งทางด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจ ก็เป็นตัวบงการว่าประเทศทั้งสองจะตอบสนองต่อการเกี้ยวพาเชิงยุทธศาสตร์ของวอชิงตันอย่างไร การที่ 2 ชาติผู้เคยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ระดับท็อปของสหรัฐฯ กำลังมีท่าทีที่แตกต่างกันออกไปคนละทางเช่นนี้ จะกลายเป็นการบ่อนทำลายประสิทธิภาพโดยรวมของนโยบายหวนกลับมาเน้นหนักเอเชียของวอชิงตันหรือไม่ ย่อมจะถูกจีนจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปักกิ่งยังจะพยายามทำให้ความพยายามของวอชิงตันในเรื่องนี้บังเกิดปัญหายุ่งยากให้มากที่สุดอีกด้วย

บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

จูเลียส ซีซาร์ ไอ ตราจาโน เป็นนักวิเคราะห์อาวุโสอยู่ที่ สถาบันการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชารัตนัม (S Rajaratnam School of International Studies) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น