เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้แม้จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างไม่ได้มีความปรารถนาที่จะปล่อยให้ความตึงเครียดจากข้อพิพาทดินแดนในทะเล สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจซึ่งกำลังซวนเซของพวกเขา แต่กระนั้น ความขัดแย้งที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้ร้อนระอุดุเดือดเหล่านี้ ก็อาจส่งผลให้ความพยายามในการสร้างกลุ่มการค้าระยะยาวของภูมิภาค ต้องมีอันล่าช้าออกไป
ความตึงเครียดทางการเมืองและความมั่นคงอันเนื่องมาจากความบาดหมางยาวนาน มีอันบานระเบิดขึ้นในเดือนนี้ ทั้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ผลลัพธ์คือ ทรัพย์สินของญี่ปุ่นถูกผู้ประท้วงในจีนทำลาย และมีการเรียกตัวนักการทูตไปรับฟังการประท้วงอย่างเป็นทางการ รวมถึงการเปิดสงครามน้ำลายระหว่างกัน
ญี่ปุ่นยกเลิกการประชุมรัฐมนตรีคลังกับเกาหลีใต้ และส่งสัญญาณว่าอาจทบทวนข้อตกลงสวอปเงินตราต่างประเทศ รวมถึงแผนการซื้อพันธบัตรรัฐบาลกิมจิ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การปล่อยให้การงัดข้อกันทางการเมือง ถึงขนาดมาทำลายธุรกิจนั้น เป็นเดิมพันสูงเกินไป
กัง ปันเส็ก นักวิเคราะห์เงินตราของวูริ ฟิวเจอร์สในกรุงโซล มองว่า การที่นักการเมืองจะแสดงความขุ่นเคืองออกมานั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เขาชี้ว่า “การร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวขณะนี้”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่น จีน ตลอดจนไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะร้างในทะเลจีนตะวันออก ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อ้างสิทธิ์ทับซ้อนในหมู่เกาะทางเหนือในทะเลญี่ปุ่น หรือที่เกาหลีใต้เรียกว่าทะเลตะวันออก
ความตึงเครียดระเบิดขึ้นในเดือนนี้หลังจาก อี มย็องบั๊ค กลายเป็นประธานาเกาหลีใต้คนแรกที่ไปเยือนเกาะด๊กโด (หรือ เกาะทาเคชิมะในภาษาญี่ปุ่น) เกาะแห่งนี้มีตำรวจติดอาวุธของเกาหลีใต้ประจำอยู่
ขณะเดียวกัน การที่นักเคลื่อนไหวจีนและญี่ปุ่นต่างบุกขึ้นไปปักธงบนหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ (หรือเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น) ทำให้สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกร้อนแรงยิ่งขึ้น
กระนั้น จาง จื้อเหว่ย นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ อินเตอร์เนชันแนลในฮ่องกง ชี้ว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดข้อพิพาทแบบนี้หลายครั้ง แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศยังคงแน่นแฟ้นเป็นอันดี
ทาเคชิ มินามิ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยโนรินชูกินในโตเกียว เห็นพ้องว่าในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากกรณีพิพาทเหล่านี้ก็จะอยู่ในขอบเขตจำกัดเท่านั้น
จีนและญี่ปุ่นต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชีย โดยติดอันดับ 2 และ 3 ของโลกตามลำดับ ส่วนเกาหลีใต้แม้มีเศรษฐกิจเล็กกว่า แต่เป็นชาติเศรษฐกิจอันดับ 4 ของเอเชีย และผู้เล่นสำคัญในวงการต่อเรือ รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ของโลก
โรเบิร์ต บรอดฟุต ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท โพลิทิคัล แอนด์ อิโคโนมิก ริสก์ คอนซัลแทนซี (เพิร์ค) ในฮ่องกง มองว่าปักกิ่ง โตเกียว และโซล ต่างเข้าใจดีถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ จากการลั่นกลองรบของนักชาตินิยม และจะไม่ยอมให้สถานการณ์บานปลาย
สัญญาณความระมัดระวังปรากฏชัดเจนจากการที่ญี่ปุ่นเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับจากโซลแต่ก็ส่งกลับไปยังเมืองหลวงของเกาหลีใต้อีกครั้ง และสื่อของทางการจีนตีพิมพ์บทความวิจารณ์พฤติกรรมความรุนแรงของผู้ประท้วงในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สเตฟานี ไคลน์-อัลแบรนต์ ผู้อำนวยการอินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี)ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เตือนว่า ขณะนี้ดูเหมือนจีนพยายามผ่อนคลายสถานการณ์ลง กระนั้น ความตึงเครียดในทะเลจีนตะวันออกจะไม่จางหายไป รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำมาตรการทางเศรษฐกิจมาใช้เหมือนในปี 2010 ที่ญี่ปุ่นจับชาวประมงจีนใกล้หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ หลังจากนั้นพญามังกรตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกแร่ที่มีธาตุโลหะหายากที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าไฮเทคมากมายให้ญี่ปุ่น ถึงแม้ทางปักกิ่งจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหานี้ก็ตาม
บรอดฟุตทิ้งท้ายว่า ปัญหาสำหรับกรณีนี้คือปัญหาระยะยาว หากความขัดแย้งกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการร่วมมือและรวมตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 3 ประเทศ แต่ภูมิภาคเพื่อนบ้านใกล้เคียงอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงสามารถที่จะเดินหน้าในเรื่องเขตเศรษฐกิจเสรีของพวกเขาเองอย่างจริงจัง