xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทญี่ปุ่นทบทวนความเสี่ยงลงทุนจีน แนวโน้มส้มหล่นพม่ายุคเปิดประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถยนต์ของบริษัทญี่ปุ่นกำลังถูกต่อต้านจากชาวจีน จากข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะระหว่างสองชาติ
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - การจลาจลโจมตีโรงงานและร้านค้าญี่ปุ่น การจงใจตรวจตราเคร่งครัดยิ่งขึ้นที่ด่านศุลกากร ตลอดจนอุปสรรคอื่นๆ ที่จีนงัดขึ้นมาตอบโต้แดนอาทิตย์อุทัยกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ กลายเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงในการทำธุรกิจในแดนมังกร และบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มมองหาตัวเลือกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่า

กรณีพิพาทจากการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือหมู่เกาะกลางทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเรียกชื่อว่าเซงกากุในญี่ปุ่น และเตี้ยวอี๋ว์ในจีน ปะทุดุเดือดหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นซื้อเกาะ 3 ใน 5 ในหมู่เกาะดังกล่าวจากครอบครัวชาวญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือน โดยนำไปสู่กระแสการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นรุนแรงในหลายเมืองของจีน

แม้ดูเหมือนโตเกียวพยายามใช้ไม้อ่อนมาตลอด แต่เมื่อวันพุธ (26) นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ก็ออกมายืนกรานว่าหมู่เกาะเซงกากุเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนญี่ปุ่นทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และกฎหมายสากล จึงไม่สามารถประนีประนอมได้

โนดะ ซึ่งให้สัมภาษณ์จากนิวยอร์กระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ยังแสดงท่าทีไม่พอใจที่ปักกิ่งไม่ยอมเข้าใจเหตุผลในการซื้อเกาะ แต่กลับปล่อยให้มีการโจมตีพลเมืองและธุรกิจของญี่ปุ่นในจีน

ต่อเรื่องนี้ ฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงตอบโต้เมื่อวันพฤหัสบดี(27) ว่าจีนไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการดื้อรั้นของผู้นำญี่ปุ่น เกี่ยวกับมุมมองที่ไม่ถูกต้องกรณีหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์

นอกจากทำให้ผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในจีนเป็นเป้านิ่งระบายความโกรธแค้นจากกรณีพิพาทดังกล่าวแล้ว ผู้บริโภคแดนมังกรยังพากันคว่ำบาตรสินค้าจากแดนปลาดิบ ขณะที่ด่านศุลกากรจีนตั้งเงื่อนไขตรวจสอบสินค้านำเข้าของญี่ปุ่นเข้มงวดขึ้น เช่นเดียวกับการออกวีซ่าให้แก่ชาวแดนอาทิตย์อุทัย

แม้การทิ้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่พัฒนาเป็นอย่างดีแล้วในจีน ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่แดนอาทิตย์อุทัยคิดจะเลือกเดิน แต่อุปสรรคและปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็กำลังทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มทบทวนความเสี่ยงและต้นทุนในการทำธุรกิจในแดนมังกร พร้อมปรายตามองประเทศอื่นๆ เช่น พม่า

“ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการประท้วงในจีนเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้” ทาเคชิ ทาคายามะ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอในโตเกียว แสดงความเห็นและเสริมว่า จีนจะยังคงเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจใหญ่เกินกว่าจะมองข้ามได้ กระนั้น มีแนวโน้มว่าบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยจะย้ายการลงทุนบางส่วนจากแดนมังกรไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

วันพุธที่ผ่านมา โตโยต้าและนิสสันระบุว่าได้ลดกำลังการผลิตในจีนเนื่องจากดีมานด์รถญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาท ส่วนสายการบินออล นิปปอน แอร์เวยส์ (เอเอ็นเอ) เผยว่า ได้รับการแจ้งยกเลิกการสำรองตั๋ว 40,000 ที่นั่งในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศต่างกังวลที่จะไปมาหาสู่กัน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สาเหตุเบื้องลึกแท้จริงที่ทำให้พวกบริษัทญี่ปุ่นทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุน ยังน่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในแดนมังกรและแดนอาทิตย์อุทัย รวมทั้งต้นทุนค่าแรงพุ่งในจีน กระทั่งทำให้จีนอาจจะไม่ใช่เป็นตัวเลือกเพียงตัวเดียวที่น่าสนใจอีกต่อไป

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะจับตาสถานการณ์เช่นนี้อย่างใกล้ชิด โดยมองเห็นเป็นโอกาสที่จะแทรกตัวเข้าไป

เป็นต้นว่า ในวันพุธ ฟิลิปปินส์แถลงกำลังหาทางดึงดูดพวกบริษัทที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการช่วงชิงกรรมสิทธิ์พิพาท ด้วยการเสนอมาตรการจูงใจด้านภาษี รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาของประชาชน เสถียรภาพเศรษฐกิจ และขจัดการทุจริต

ขณะที่ ไทย และเวียดนาม ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่พวกบริษัทญี่ปุ่นเคยใช้เดินกันจนคุ้นเคยแล้ว แต่สำหรับแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนแห่งใหม่นั้น นักวิจารณ์ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นพม่าที่กำลังเปิดประเทศอย่างรวดเร็ว

“พม่าเป็นจุดหมายปลายทางแห่งความหวังของญี่ปุ่น นอกจากนั้น คนที่นั่นก็ไม่ได้มีความรู้สึกไม่ดีกับญี่ปุ่นแต่อย่างใด” ยูกิโอะ ซูซูกิ หัวหน้านักวิเคราะห์ของเบลล์ อินเวสต์เมนต์ รีเสิร์ช ออฟ เจแปน กล่าว

ช่วงหลายปีที่พม่าถูกโดดเดี่ยว ญี่ปุ่นยังคงความสัมพันธ์ทางการค้าและการติดต่อหารือกับพม่า เนื่องจากกลัวว่ารัฐบาลเผด็จการทหารในย่างกุ้งจะไปคบหาสมาคมกับจีน

และหลังจากสิ้นยุคของรัฐบาลทหาร โตเกียวเดินหน้ากระชับไมตรีทันทีด้วยการประกาศยกหนี้ 3,700 ล้านดอลลาร์ให้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กลางเดือนหน้า เอเอ็นเอจะเริ่มเที่ยวบินปกติไปยังพม่า ขณะที่ ชิมิสึ บริษัทก่อสร้างใหญ่แดนปลาดิบเตรียมเปิดสาขาในแดนหม่องอีกครั้งหลังจากปิดไปเมื่อปี 1999

นอกจากนั้น สัปดาห์นี้หอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ส่งคณะผู้แทนชุดใหญ่ไปยังพม่า เพื่อหารือกับนักธุรกิจท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล

ซูซูกิ หัวหน้านักวิเคราะห์ของเบลล์ สำทับว่า การรุกคืบเปิดลู่ทางในพม่าจะเป็นประโยชน์สำหรับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในจังหวะเวลาที่กำลังมีกรณีพิพาทกับจีนในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น