เอเอฟพี - ตลอดเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา ยุโรปต้องฝ่าฟันช่วงนาทีวิกฤตจากมรสุมหนี้สาธารณะมามากมายหลายครั้ง ว่ากันว่าเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จะเป็น “เดือนชี้ชะตา” อีกคำรบหนึ่ง เนื่องจากบรรดาผู้วางนโยบายต้องตัดสินใจหลายประเด็นสำคัญเพื่อปกป้องความอยู่รอดของยูโรโซน
นับจากวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซนระเบิดขึ้นในเดือนมกราคม 2010 เหล่าประเทศยุโรปรวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องเข้าช่วยเหลือกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ซึ่งไม่สามารถระดมเงินกู้ด้วยตนเอง มาอุดหนุนงบประมาณที่ขาดดุล และหนี้สาธารณะที่ถึงกำหนดชำระได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมจากตลาดอยู่ในระดับที่สูงจนรับไม่ไหว
มาถึงวันนี้ ยังมีอีกสองประเทศ นั่นคือ สเปน และอิตาลี ที่กำลังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน ว่ากันว่าหากสเปน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 4 ของยูโรโซนและอันดับ 12 ของโลก ไม่สามารถระดมทุนในตลาดได้ โดมิโนตัวถัดไปที่จะล้มตามคืออิตาลี ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของยูโรโซนแถมเป็นสมาชิกของกลุ่มจี 7 หรือกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
ประมาณการกันว่า การอัดฉีดสเปนอาจต้องใช้เงินมากกว่า 2 เท่าตัวของจำนวนที่เคยให้กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสรวมกัน ขณะที่เศรษฐกิจอิตาลีก็ใหญ่เป็น 2 เท่ากว่าของสเปน
สหภาพยุโรป (อียู) ตกลงปล่อยกู้สูงสุด 100,000 ล้านยูโร เพื่อให้สเปนนำไปใช้เพิ่มทุนพวกแบงก์ที่มีปัญหาของตน แต่เจ้าหน้าที่ยูโรโซนคนหนึ่งแย้มว่า มาดริดสารภาพว่าอาจต้องให้อียูและ ไอเอ็มเอฟ เข้าอุ้มเศรษฐกิจทั้งระบบด้วยวงเงิน 300,000 ล้านยูโร หากตลาดยังคงหวนกลับมาเรียกร้องอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลแดนกระทิงดุ ชนิดที่จ่ายให้ไม่ไหว อยู่เป็นระยะๆ เช่นนี้
หลายวันมานี้ พวกเจ้าหน้าที่ยุโรปผลัดเปลี่ยนกันออกคำแถลง ยืนยันว่าจะดำเนินมาตรการสกัดกั้นวิกฤต อาทิ มาริโอ มอนติ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พร้อมเข้าแทรกแซงในตลาดเงิน ซึ่งทำให้มีการตีความกันว่า อีซีบีอาจทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อดึงต้นทุนการกู้ยืมของสเปนและอิตาลีให้ลดลง
กระนั้น ดูเหมือนยูโรโซนจะมีเงินสดไม่พอรับมือ หากสเปนและอิตาลีต้องการความช่วยเหลือ ซ้ำร้ายแผนปฏิรูปของกรีซก็ยังไปไม่ถึงไหน หมายความว่าเอเธนส์อาจต้องการเวลา เงิน และการลดหนี้เพิ่มเติมจากอียู เพื่อไม่ให้หลุดออกจากยูโรโซนที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจยุโรป
12 กันยายนจะเป็นวันสำคัญของยุโรป เพราะศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีกำหนดวินิจฉัยว่า สนธิสัญญาการตั้งกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเยอรมนีหรือไม่
คำตัดสินนี้สำคัญมากไม่ใช่เพียงเพราะเมืองเบียร์เป็นนายทุนใหญ่สุดของอีเอสเอ็มเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากว่า ถ้าไม่มีอีเอสเอ็ม ยูโรโซนจะไม่มีกลไกซึ่งสามารถใช้ปกป้องช่วยเหลือสเปนและอิตาลีได้เลย
วันเดียวกันนั้นเอง ยังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่อต้านการอัดฉีดเงินเพิ่มแก่สมาชิกยูโรโซนที่ใช้เงินมือเติบ ผลการเลือกตั้งของชาวดัตช์อาจทำให้การเจรจาทบทวนการปล่อยกู้รอบสองให้กรีซในเดือนกันยายนยิ่งทวีความลำบากยากเย็นขึ้นอีก
กรีซนั้นต้องการขยายเวลาในการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่า 3% ของมูลค่าเศรษฐกิจ จากเป้าหมายเดิมออกไปอีก 2 ปี เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น ในสภาพที่ประเทศกำลังเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงเช่นนี้ แต่กรีซจะทำเช่นนี้ได้หมายความว่า อาจต้องขอเงินกู้เพิ่มอีก 20,000-50,000 ล้านยูโร ในจังหวะเวลาที่ไม่มีสมาชิกชาติไหนเต็มใจเลย
ในส่วนเป้าหมายการลดหนี้ของกรีซที่ขณะนี้อยู่ที่ 160% ของมูลค่าจีดีพีต่อปีนั้น อาจหมายความว่าสมาชิกยูโรโซนซึ่งเวลาเป็นเจ้าหนี้ราว 2 ใน 3 ของยอดหนี้สินของเอเธนส์ทั้งหมด จะต้องยอมลดหนี้ให้ โดยอาจต้องลดกันถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว เพื่อให้กรีซสามารถคงอยู่ในยูโรโซนได้ต่อไป แต่ถ้าหากกรีซประสบความสำเร็จถึงขนาดนั้นจริงๆ คาดหมายได้ว่าไอร์แลนด์และโปรตุเกส ก็อาจเรียกร้องขอลดหนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน การปกป้องสเปนและกรีซอาจหมายถึงการที่อีซีบีต้องเข้าไปดึงต้นทุนการกู้ยืมของสองประเทศนี้ให้ลดลง
การส่งสัญญาณของดรากี ประธานอีซีบีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ว่า อีซีบีอาจฟื้นโปรแกรมเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีปัญหาในตลาดรอง คำประกาศของดรากีได้ช่วยฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแดนกระทิงดุให้สามารถลดลงมาต่ำกว่าระดับ 7% ซึ่งถือเป็นระดับอันตราย กระนั้นก็เห็นกันว่ายังนิ่งนอนใจไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมของสเปนอาจดีดกลับ หากตลาดไม่เชื่อว่าอีซีบีจะลงมือในเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนั้นยังมีปัญหาจากการที่เยอรมนีคัดค้านแนวคิดนี้มาตลอด รวมถึงการที่อีเอสเอ็มเมื่อรวมกับกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ก็จะมีทรัพยากรรวมกันเพียง 459,500 ล้านยูโร ณ เดือนกรกฎาคมปีหน้า และเพิ่มเป็น 500,000 ล้านยูโร ณ เดือนกรกฎาคม 2014 ซึ่งยังคงไม่เพียงพอทำให้ตลาดมั่นใจ
ทางออกคือ อีเอสเอ็มต้องสามารถระดมทุนจากอีซีบี ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการแทรกแซงตลาดพันธบัตรได้ไม่จำกัดและโดยปราศจากความกดดันด้านเงินเฟ้อ
แต่การหารือเพื่อให้มีการออกใบอนุญาตการเป็นธนาคารแก่อีเอสเอ็มจะได้ขอกู้จากอีซีบีได้นั้นยังไม่มีความคืบหน้าอันใด ฝรั่งเศสนั้นเรียกร้องแนวทางนี้อย่างเปิดเผย ขณะที่เยอรมนี ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ยังคงตั้งป้อมต่อต้านแข็งขัน