xs
xsm
sm
md
lg

“จีน” ยังเป็นฐานผลิตที่หอมฟุ้ง-แม้ “ค่าแรง” พุ่งแต่ประสิทธิภาพก็ขึ้นชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นกำแพงที่เต็มไปด้วยแผ่นป้ายจากบริษัทจีนแห่งต่างๆ ซึ่งต้องการคนงาน ณ เมืองจูจี้ มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าถึงแม้ค่าแรงในจีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลิตภาพ หรือประสิทธิภาพในการผลิตของคนงานจีนก็กำลังสูงขึ้นไปด้วย
เอเอฟพี - แม้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกำลังคุกคามความสามารถในการแข่งขันของจีน ทว่า ประสิทธิภาพการผลิตและความได้เปรียบอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้แดนมังกรยังคงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง

นาติซีส์ ธนาคารฝรั่งเศสคาดการณ์ว่า ค่าแรงในจีนจะขยับขึ้นมาเทียบเท่าค่าแรงในอเมริกาภายใน 4 ปี ตามทันประเทศในยูโรโซนใน 5 ปี และ 7 ปีสำหรับญี่ปุ่น เท่ากับว่าอีกไม่นานจีนจะไม่เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในด้านการผลิตอีกต่อไป

การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับ บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (บีซีจี) บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจชื่อดัง ซึ่งระบุในรายงานที่ออกมาในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า เมื่อถึงประมาณปี 2015 การผลิตในบางพื้นที่ของอเมริกาจะมีต้นทุนพอๆ กับการผลิตในจีน

ไม่นานมานี้ อาดิดาสประกาศแผนปิดโรงงานที่บริษัทเป็นเจ้าของโดยตรงในจีน กลายเป็นแบรนด์ใหญ่ล่าสุดที่โยกการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า แม้ยังมีเครือข่ายผู้รับช่วงผลิต 300 รายในแดนมังกรก็ตาม

อาดิดาสเผยว่า แรงงานผลิตรองเท้ากีฬาในจีนได้เงินเดือนอย่างน้อย 2,000 หยวน (258 ยูโร) ขณะที่คนงานของอาดิดาสในกัมพูชาได้เพียงเดือนละ 107 ยูโร

แม้แต่รายงานของทางการจีนก็ตอกย้ำแนวโน้มนี้ โดยระบุว่า เงินเดือนพนักงานในเมืองเพิ่มขึ้น 13% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่แรงงานอพยพซึ่งเป็นพวกที่ได้ค่าแรงต่ำที่สุดในประเทศ ก็ได้เงินเดือนขึ้น 14.9% มาอยู่ที่เดือนละ 2,200 หยวนโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2010-2011 แดนมังกรมีการขึ้นค่าแรงมากที่สุด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังการประท้วงในบริษัทของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้าและฮอนด้า ตลอดจนเกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องในโรงงานต่างๆ ของฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน

นาติซีส์เสริมว่า การขึ้นค่าแรงอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตย้ายไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่าแรงถูกกว่า รวมถึงอียิปต์และโมร็อกโก หรือแม้แต่ประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างโรมาเนีย และบัลแกเรีย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกคนเชื่อว่าจีนจะสูญเสีญความได้เปรียบในด้านการผลิต

ลูอิส คูอิจส์ ผู้อำนวยการโครงการของฟุง โกลบัล อินสติติวท์ หน่วยงานวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเอเชีย ชี้ว่าการขึ้นค่าแรงส่วนใหญ่ได้รับการชดเชยจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของผลิตภาพ (productivity)

ในบริเวณเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตของจีน ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่าค่าแรง ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นบริษัท 200 แห่งในช่วงต้นปีที่จัดทำโดยธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด

หวัง ฉินเหว่ย นักเศรษฐศาสตร์จีนของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ระบุว่า ส่วนแบ่งของจีนในการส่งออกสินค้าราคาถูกกำลังลดลง หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งค่าแรงและค่าที่ดินต่างขยับขึ้น และเงินหยวนแข็งค่าขึ้น กระนั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้รับการชดเชยจากส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นในตลาดผลิตภัณฑ์ระดับสูง

แคปิตอล อิโคโนมิกส์ ยังระบุในรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ภาคส่งออกของจีนโดยรวมไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันลดต่ำลงกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มิหนำซ้ำส่วนต่างเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเบายังเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีล่าสุด อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของผลิตภาพ

อลิสแตร์ ธอร์นตัน นักเศรษฐศาสตร์จีนจากไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ สำทับว่า พื้นที่ตามแนวชายฝั่งของจีนนำเสนอสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่จะดึงดูดนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมณฑลชั้นในก็ยังคงมีค่าแรงถูกกว่า และข้อได้เปรียบเหล่านี้น่าจะสกัดการโยกย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เช่น เวียดนาม บังคลาเทศ ปากีสถาน และอินโดนีเซีย ได้

ธอร์นตันแจงว่า กวางตุ้งและมณฑลชายฝั่งมีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในด้านห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ, การประหยัดจากขนาด, และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่วางใจได้

เขาสำทับว่า ผู้ผลิตที่ทิ้งเมืองชายฝั่งของจีนไม่ได้มองเพียงเอเชียอาคเนย์และยุโรปตะวันออกเท่านั้น แต่ยังมองไปที่พวกมณฑลชั้นในของจีนซึ่งค่าแรงและค่าที่ดิน รวมถึงต้นทุนพลังงานยังคงถูกอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น