xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’วางแผนยุทธศาสตร์ปิดล้อม‘จีน’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: แดเนียล ธอร์ป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India plans strategic encirclement of China
By Daniel Thorp
11/07/2012

อินเดียแถลงเอ่ยเอื้อนเป็นประจำเสมอมาว่า ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะทำการปิดล้อมหรือจำกัดพื้นที่ความเคลื่อนไหวของจีนแต่อย่างใดเลย ทว่าถ้อยคำโวหารเหล่านี้ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับความมุ่งมั่นและการปฏิบัติการเพื่อขยายกำลังทหารและปรับปรุงยกระดับกองทัพให้ทันสมัย ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทางอากาศ, และทางทะเล ของทางการนิวเดลี ตลอดจนการที่แดนภารตะพยายามเพิ่มความร่วมมือกับบรรดารัฐที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเหล่าชาติเพื่อนบ้านของจีนที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอยู่กับแดนมังกร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปักกิ่งเองก็กำลังมีปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างง่ายดายว่า เป็นความพยายามที่จะสกัดควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของอินเดียเช่นเดียวกัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

การประชุม ริโอ+20 ซัมมิต (Rio+20 Summit) ที่ประเทศบราซิลในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปิดฉากลงด้วยผลลัพธ์ซึ่งน่าผิดหวัง ถึงแม้มีการป่าวประกาศขนานนามการประชุมคราวนี้ว่า เป็น “โอกาสที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวใน 1 ชั่วอายุคน” ที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกให้อยู่ในทิศทางแห่งความยั่งยืน ตลอดจนมีคำพูดคำแถลงในเชิงบวกเป็นจำนวนมากออกมาจากบรรดาผู้นำโลกมากหน้าหลายตา อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกับที่กำลังมีการถกเถียงอภิปรายกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้อยู่นั้น นายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน และนายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย ก็ได้ถือโอกาสจัดการประชุมข้างเคียง เพื่อหารือกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศ โดยที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างเรียกร้องสนับสนุนให้ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียคู่นี้เพิ่มพูนความร่วมมือกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ซิงห์กล่าวย้ำว่า อินเดียไม่มีเจตนารมณ์ใดๆ ที่จะปิดล้อมจำกัดความเคลื่อนไหวของจีน และเขาจะไม่อดทนยินยอมให้มีการดำเนินกิจกรรมต่อต้านจีนใดๆ ขึ้นบนแผ่นดินของอินเดีย อันที่จริงก่อนหน้านี้เราก็ได้พบเห็นตัวอย่างจำนวนมากมายของการที่นักการเมืองจีนและอินเดียประชุมพบปะกันเพื่ออภิปรายหารือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน แล้วปิดฉากลงด้วยการโปรยปรายภาษาดอกไม้และมองโลกในแง่ดีเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีการย้ำยืนยันกันครั้งแล้วครั้งเล่าจากทั้งสองฝ่ายว่ารัฐบาลของพวกเขาแต่ละฝ่ายนั้น ไม่ได้กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ใดๆ เพื่อมุ่งปิดล้อมหรือจำกัดพื้นความเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นชาติเพื่อนบ้านตั้งประชิดติดกันอยู่ แต่ปรากฏว่าการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังมานี้ กลับให้ภาพที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากคำพูดคำแถลงเหล่านี้นักหนา

ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภายในคณะรัฐบาลอินเดีย และภายในแวดวงนักยุทธศาสตร์ของแดนภารตะ มีความหวาดกลัวเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่หลายๆ คนมีความรู้สึกว่า ปักกิ่งกำลังเกี่ยวข้องพัวพันกับการดำเนินยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการปิดล้อมและเพื่อการควบคุมจำกัดความเคลื่อนไหวของแดนภารตะ ในความพยายามอย่างแน่วแน่ที่จะผูกตรึงอินเดียเอาไว้ให้อยู่แต่ภายในอนุทวีปอินเดียเท่านั้น เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่มองเห็นและเข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามดังกล่าวนี้ นิวเดลีก็ค่อยๆ กระทำสิ่งซึ่งเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็น การเสริมสร้างเพิ่มการถ่วงดุลจากภายใน (internal balancing) โดยวิธีการเพิ่มพูนสมรรถนะทางทหารของตนทั้งทางภาคพื้นดินและทางทะเล ให้ได้ดุลยิ่งขึ้นในการคานอำนาจกับสมรรถนะทางทหารของปักกิ่ง ตลอดจนกระทำสิ่งที่เรียกว่าเป็น การเสริมสร้างเพิ่มการถ่วงดุลจากภายนอก (external balancing) ด้วยการมีความร่วมมือทางทหารกับรัฐต่างๆ ทั้งในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การเสริมสร้างเพิ่มการถ่วงดุลจากภายในของอินเดีย มีการกระทำในรูปแบบต่างๆ หลากหลาย และก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในงบประมาณด้านกลาโหมซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยที่สำหรับปีงบประมาณ 2012-13 ตัวเลขที่ประกาศเปิดเผยกันออกมาอยู่ที่ 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้น 17% ทีเดียว

ประการแรกสุด ด้วยงบประมาณด้านกลาโหมระดับนี้เอง ที่ทำให้มีเงินทุนไปใช้จ่ายในโครงการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยที่ข้อตกลงเมื่อเร็วๆ นี้ที่เป็นข่าวเกรียวกราว ก็ได้แก่การสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ “ราฟาล” (Rafale) ของฝรั่งเศสจำนวน ถึง 126 ลำ ซึ่งทางบริษัทดัชโชลท์ (Dassault) ที่เป็นผู้ผลิตจะทยอยจัดส่งให้ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ โดยมีการประสานเชื่อมโยงรองรับกับเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 จำนวนกว่า 200 ลำ ที่แดนภารตะจะดำเนินการวิจัยพัฒนาด้วยการร่วมมือกับรัสเซียภายในปี 2017

ประการที่สอง อินเดียยังกำลังเสริมเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การป้องกันตนเองในบริเวณตลอดทั่วทั้งพื้นที่พรมแดนที่ติดต่อกับจีน โดยที่ในปี 2011 มีการส่งกำลังทหาร 100,000 คนเพิ่มเข้าไปประจำอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างสองประเทศ ซึ่งยังถือว่ามีการพิพาทช่วงชิงกันอยู่ในหลายบริเวณ และมีชื่อเรียกขานกันเป็นการเฉพาะว่า “เส้นแบ่งพรมแดนตามที่มีการควบคุมจริงๆ” (Line of Actual Control) นอกจากนั้นอินเดียยังนำจรวดร่อน (cruise missile) แบบ บราห์มอส (BrahMos) ที่มีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ไปติดตั้งประจำการในพื้นที่เขตตะวันออกของเส้นแบ่งพรมแดนตามที่มีการควบคุมจริงๆ ดังกล่าว การเสริมกำลังทหารและอาวุธที่เป็นเขี้ยวเล็บเหล่านี้ ยังได้รับการหนุนส่งด้วยการเพิ่มเติมเร่งรัดโครงการการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้นว่า ถนนหนทางสายใหม่ๆ ตลอดจนการก่อสร้างและการปรับปรุงยกระดับบรรดาฐานทัพอากาศหลายหลากประเภทตลอดทั่วทั้งเขตที่ระบุข้างต้น

ประการสุดท้าย และก็เป็นประการสำคัญที่สุด อินเดียกำลังหนุนส่งเพิ่มพูนสมรรถนะด้านอาวุธนิวเคลียร์ของตน ด้วยการทดสอบยิงขีปนาวุธ “อัคนี-5” (Agni-V) ซึ่งได้รับการประโคมเชิดชูว่าเป็นการทดสอบที่ได้ผลอย่างยอดเยี่ยมชนิด “ไร้รอยตำหนิ” ขีปนาวุธชนิดนี้มีความสามารถในการบรรจุหัวรบนิเวคลียร์ และด้วยพิสัยทำการถึง 5,000 กิโลเมตร ก็สามารถยิงไปโจมตีเมืองใหญ่ๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีนได้แทบจะทุกเมืองทีเดียว

นอกจากการปรับปรุงยกระดับกำลังทหารให้ทันสมัยในทางภาคพื้นดินแล้ว นิวเดลียังกำลังพัฒนาเสริมสร้างสมรรถนะด้านนาวีของตน โดยที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเหล่าผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือแดนภารตะ กำลังหันเหปรับเปลี่ยนแนวความคิด ไปสู่ทิศทางตามคำสอนของ อัลเฟรด ที มาฮาน (Alfred T Mahan) และปรัชญาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อิงกับการครองอำนาจเหนือทะเลของเขา ในเมื่อผู้บังคับบัญชาเหล่านี้ได้อนุมัติจัดทำแผนการอันทะเยอทะยานแห่งอนาคต ซึ่งวาดภาพให้อินเดียมีกองกำลังทางนาวีที่เติบใหญ่เต็มที่และมีสมรรถนะสูงในด้านการปฏิบัติการในทะเลลึก เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจการพิทักษ์ปกป้อง บรรดาเขตน่านน้ำชายฝั่ง, เส้นทางการคมนาคมขนส่งทางทะเลที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด, ตลอดจนสามารถสำแดงอำนาจออกไปในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง

การปรับปรุงยกระดับกำลังทางนาวีให้ทันสมัยของแดนภารตะ ประกอบด้วยการจัดตั้งท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านนาวีน้ำลึกแห่งใหม่ขึ้นมา 2 แห่ง คือที่ คาวาร์ (Kawar) ทางชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และที่บริเวณใกล้ๆ เมืองวิสาขะปัตนัม (Viskhapatnam) ฐานนาวีใหม่ทั้ง 2 แห่งนี้อยู่ในการบังคับบัญชาของกองบัญชาการทหารเรือภาคตะวันออก (Eastern Naval Command) ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็มีการจัดตั้งกองบัญชาการทหารเรือภาคตะวันออกไกล (Far Eastern Naval Command ใช้อักษรย่อว่า FENC) ขึ้นที่เมืองพอร์ตแบลร์ (Port Blair) ในหมู่เกาะอันดามัน (Andaman Islands) ซึ่งทำให้กองทัพเรืออินเดียสามารถสำแดงอำนาจตลอดทั่วทั้งอ่าวเบงกอล ตลอดจนแผ่เข้าไปในช่องแคบมะละกา อันจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับช่องแคบมะละกา” (Malacca Dilemma) ของแดนมังกร

พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ อินเดียมีการหนุนเสริมทั้งด้วยการจัดซื้อจัดหาฮาร์ดแวร์ทางนาวี ตลอดจนด้วยการวิจัยพัฒนาฮาร์ดแวร์บางส่วนด้วยตนเอง เป็นต้นกว่า การทำสัญญาเช่าเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ไอเอ็นเอส จักรา (INS Chakra) ระยะเวลา 10 ปีจากรัสเซีย และการดำเนินการวิจัยพัฒนาในท้องถิ่นเองจนสามารถต่อเรือ ไอเอ็นเอส ไอรหันต์ (INS Airhant) นอกจากนั้น เรือบรรทุกเครื่องบินเก่าของรัสเซียที่ชื่อ กอร์ชคอฟ (Gorshkov) ซึ่งได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า ไอเอ็นเอส วิกรมาทิตยะ (INS Vikramaditya) ก็กำลังจะได้รับการบรรจุเข้าประจำการในกองทัพเรืออินเดียภายในเดือนธันวาคม ปี 2012 นี้ การขยับขยายในช่วงระยะหลังๆ เหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างกองเรือนาวีที่มีเรือประเภทต่างๆ 160 ลำ โดยในจำนวนนี้จะเป็นกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 กลุ่ม ตามที่บรรยายสรุปเอาไว้โดย พล.ร.อ.สุรีช เมห์ทา (Sureesh Mehta) ผู้บัญชาการทหารเรือ โดยกำหนดวางเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นภายในกลางทศวรรษ 2020

การเสริมสร้างเพิ่มการถ่วงดุลจากภายในของอินเดีย กำลังกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างมากมายด้วยการเพิ่มการจัดซื้อจัดหาฮาร์ดแวร์ และการปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางทหารอย่างต่อเนื่องในบริเวณพรมแดนประชิดกับจีน ตลอดจนในปริมาณทางทะเล และเนื่องจากจีนก็กำลังดำเนินการขยายกองกำลังเรือรบของตนอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันในด้านนี้ระหว่างประเทสทั้งสองทั้งภายในและรอบๆ มหาสมุทรอินเดีย ควรต้องกล่าวด้วยว่า การเสริมสร้างเพิ่มการถ่วงดุลกับแดนมังกรของแดนภารตะนี้ ยังกำลังกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างมากมายเช่นกัน ในด้านของการเพิ่มการถ่วงดุลจากภายนอก และในด้านการร่วมมือกับรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้

แดเนียล ธอร์ป สำเร็จการศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยบรูเนล, สหราชอาณาจักร โดยมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในย่านเอเชีย-แปซิฟิก

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น