ASTVผู้จัดการออนไลน์—ขณะอุณหภูมิศึกชิงเกาะ ข้อพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะสแปรตลีย์แห่งทะเลจีนใต้กำลังระอุไม่เบา โดยเฉพาะระหว่างจีนและเวียดนาม ในวันพุธ(27 มิ.ย.) กลุ่มสื่อจีนอ้างแหล่งข่าวกรองการทหารกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือเพนทากอน ระบุจีนได้จัดตั้งระบบติดตามในทะเลครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางแบบใหม่ ประกอบด้วยเครือข่ายเสียงโซนาร์ดักฟังใต้น้ำ รวมทั้งระบบเรดาร์ที่ฐานนาวีใต้ทะเลและบนพื้นดิน
ระบบฯดังกล่าวจะเพิ่มอุปสรรค์ต่อกองเรือพิทักษ์เรือดำน้ำและการติดตามเรือดำน้ำจีนของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการสร้างเรือดำน้ำ จากปีค.ศ.1952 จีนได้จัดตั้งฐานเรือดำน้ำแห่งแรกที่เกาะชิงเต่า มณฑลซันตงแห่งชายฝั่งตะวันออกของจีน จากแหล่งข่าวสื่อต่างประเทศ ขณะนี้จีนได้ใช้เกณฑ์บทบาทและประเภทของเรือดำน้ำในการวางแผนจัดตั้งฐานทัพเรือดำน้ำต่างๆ ได้แก่ ฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่ง ฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานดีเซลและไฟฟ้า 5 แห่ง และฐานฝึกซ้อม 1 แห่ง
ในจำนวนนี้ มีฐานทัพเรือดำน้ำที่มีชื่อเสียง 4 แห่ง ได้แก่ ฐานทัพที่เกาะเสี่ยวผิง เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ฐานทัพฯเจียงเก๋อจวง เกาะชิงเต่า มณฑลซันตง ฐานทัพที่ย่าหลงวัน เมืองซันย่า มณฑลไห่หนันและฐานทัพแห่งใหม่ล่าสุดที่อี๋ว์หลิน มณฑลไห่หนัน (หรือ ไหหลำ)
สำหรับฐานทัพนาวีอี๋ว์หลินยังเป็นท่าเรือใหญ่ (home port) แห่งที่สอง ของเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ 094 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด
สื่ออังกฤษ Jane's Defence Weekly อ้างภาพถ่ายดาวเทียม ‘กูเกิล เวิร์ลด์’ ระบุว่าฐานทัพนาวีอี๋ว์หลิน มีอุโมงค์เรือดำน้ำ 11 แห่ง อุโมงค์แต่ละแห่งพุ่งตรงไปยังเขตป่าลึก นักวิเคราะห์ในเพนทากอนชี้ว่า อุโมงค์เรือดำน้ำทอดยาวจากเขตป่าดงอันสลับซับซ้อนไปยังใต้ทะเลในทะเลจีนใต้ ใช้เวลาเพียง 20 นาที ก็ดำลึกถึงเขตชั้นในของทะเลจีนใต้
เรือดำน้ำยุทธสาสตร์ของจีนสามารถกบดานอยู่ใต้น้ำโดยที่ไม่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำเลย สามารถออกจากอู่ในเขตป่าดง ตรงดิ่ง เพียง 20 นาที ก็ถึงบริเวณชั้นในของทะเลจีนใต้ ทำให้การติดตามเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของจีนทางอากาศเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น
ทั้งนี้ ศึกพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเกาะในทะเลจีนใต้ ได้แก่ หมู่เกาะสแปรตลีย์ หมู่เกาะพาราเซล และแนวปะการังต่างๆ ซึ่งเชื่อกันว่าอุดมไปด้วยทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ มีคู่กรณี ได้แก่ จีน,เวียดนาม,มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไต้หวัน .