xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’วางแผนยุทธศาสตร์ปิดล้อม‘จีน’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: แดเนียล ธอร์ป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India plans strategic encirclement of China
By Daniel Thorp
11/07/2012

อินเดียแถลงเอ่ยเอื้อนเป็นประจำเสมอมาว่า ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะทำการปิดล้อมหรือจำกัดพื้นที่ความเคลื่อนไหวของจีนแต่อย่างใดเลย ทว่าถ้อยคำโวหารเหล่านี้ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับความมุ่งมั่นและการปฏิบัติการเพื่อขยายกำลังทหารและปรับปรุงยกระดับกองทัพให้ทันสมัย ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทางอากาศ, และทางทะเล ของทางการนิวเดลี ตลอดจนการที่แดนภารตะพยายามเพิ่มความร่วมมือกับบรรดารัฐที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเหล่าชาติเพื่อนบ้านของจีนที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอยู่กับแดนมังกร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปักกิ่งเองก็กำลังมีปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างง่ายดายว่า เป็นความพยายามที่จะสกัดควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของอินเดียเช่นเดียวกัน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ความร่วมมือทางการทหารที่อินเดียกระทำกับรัฐอื่นๆ นั้น กำลังขยายตัวไปทั่วทั้งทางด้านภาคพื้นดินและทางทะเล ในภาคพื้นดินนั้น นิวเดลีกำลังทุ่มเทเพิ่มขึ้นเพื่อลงทุนในความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอัฟกานิสถาน โดยที่มีการจัดทำข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันขึ้นในเดือนตุลาคม 2011 รวมทั้งกำลังเขม้นหมายที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกมากภายหลังจากกองกำลังทหารต่างชาติที่นำโดยองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานในปี 2014 ตามแผนการที่กำหนดเอาไว้

กับ ทาจิกิสถาน อินเดียก็กำลังเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับกองกำลังความมั่นคงของประเทศเอเชียกลางแห่งนี้ รวมทั้งยังได้จัดหาเงินทุนสำหรับการปรับปรุงยกระดับฐานทัพอากาศที่เมืองฟาร์คอร์ (Farkhor) และที่เมือง อายนี (Ayni) ต่อเนื่องจากการก่อสร้างโรงพยาบาลทหารและคลังพัสดุเพื่อการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานทัพอากาศที่อายนี ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ โดยที่มีรายงานข่าวว่า ทาจิกิสถาน, อินเดีย, และรัสเซีย กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือกันเกี่ยวกับการร่วมกันใช้ฐานทัพแห่งนี้ ทั้งนี้ในปัจจุบันกองทัพอากาศอินเดียมีเฮลิคอปเตอร์แบบ เอ็มไอ-17 (Mi-17) ตลอดจนเครื่องบินขับไล่รัสเซียที่แดนภารตะเช่าหามา ประจำการอยู่ที่ฐานทัพแห่งนี้อยู่แล้ว

นิวเดลียังกำลังเพิ่มพูนความร่วมมือกับมองโกเลีย โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามกันในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันเมื่อปี 2001 ระบบเรดาร์ซึ่งตั้งอยู่ในมองโกเลียทำให้อินเดียสามารถติดตามจับตาการทดสอบขีปนาวุธของจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นอินเดียกับมองโกเลียยังจัดการฝึกซ้อมทางทหารแบบทวิภาคีเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2004 อีกทั้งยังกำลังเจรจาหารือกันอย่างเงียบๆ ในเรื่องให้แดนภารตะมีสิทธิในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารต่างๆ ในมองโกเลีย

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับทาจิกิสถาน และกับอัฟกานิสถานนั้น ยังมีความน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่มันมีศักยภาพที่จะเป็นการทำลายหมากกลของจีนซึ่งใช้ปากีสถานเป็นรัฐตัวแทนในการต่อต้านอินเดีย แล้วก็ทำให้แดนภารตะต้องแบ่งแยกจุดโฟกัสของตนออกไปใน 2 ด้าน 2 แนวรบ นั่นคือทั้งด้านจีนและด้านปากีสถาน แต่ถ้าหากอินเดียกลับกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากมายในอัฟกานิสถานแล้ว นิวเดลีย่อมมีโอกาสที่จะตัดทอนอำนาจบารมีของปากีสถาน ในประเทศซึ่งอิสลามาบัดถือมานมนานแล้วว่า อยู่ภายในเขตอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของตน

จากการติดตามความเคลื่อนไหวของแดนภารตะ ทั้งในเรื่องการแผ่ขยายเข้าไปในปริมณฑลทางนาวี, การเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับรัฐอื่นๆ, ตลอดจนการสร้างวงปิดล้อมแดนมังกร เรายังสามารถมองเห็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ในทำนองเดียวกัน ได้แก่การที่อินเดียพัฒนาสายสัมพันธ์ทางทหารกับพวกชาติเพื่อนบ้านของจีนบางรายซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอยู่กับแดนมังกร สายสัมพันธ์ในลักษณะนี้ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสิงคโปร์ ซึ่งเบ่งบานขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงปีหลังๆ มานี้ ภายหลังการร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันระหว่างกันในปี 2003 โดยที่ประเทศทั้งสองมีการปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ ตลอดจนขยายการฝึกซ้อมทางทหารระดับทวิภาคีให้ครอบคลุมทั่วทั้ง 3 เหล่าทัพ โดยเฉพาะความร่วมมือที่สำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ การฝึกร่วมทางนาวี “ซิมเบ็กซ์” (SIMBEX) ของประเทศทั้งสอง ซึ่งกระทำในบริเวณอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้

ความสัมพันธ์ที่นิวเดลีมีอยู่กับสิงคโปร์ ต้องถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษในทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเกาะสิงคโปร์ซึ่งทางด้านตะวันตกประชิดกับทะเลจีนใต้ และทิศตะวันออกติดต่อกับช่องแคบมะละกา อันเป็นช่องทางเดินเรือทะเลที่สำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งสำหรับอินเดียและทั้งสำหรับจีน ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทางด้านความมั่นคงระหว่างแดนภารตะกับนครรัฐสิงหะปุระแห่งนี้ เป็นการเปิดทางให้กองทัพเรืออินเดียสามารถสำแดงอำนาจอย่างเข้มแข็งเข้าไปในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่อ่อนไหวเป็นพิเศษสำหรับจีน และก็เป็นอาณาบริเวณที่แดนมังกรประกาศอ้างอำนาจอธิปไตยแทบจะหมดทั้งทะเลทีเดียว นอกจากนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวยังเป็นการเปิดทางให้อินเดียสามารถคุกคามที่จะปิดช่องแคบมะละกา ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขยาย “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับช่องแคบมะละกา” ของปักกิ่งยิ่งขึ้นไปอีก

จุดสำคัญถัดมาตามแนวทางการสร้างวงปิดล้อมจีนของอินเดีย ก็ย่อมจะต้องเป็นเวียดนาม สืบเนื่องจากทั้งนิวเดลีและฮานอยต่างก็มีประวัติศาสตร์ในการขัดแย้งสู้รบกับจีนกันทั้งคู่ สายสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างอินเดียกับเวียดนาม สามารถสาวย้อนกลับไปจนถึงการทำข้อตกลงด้านการป้องกันระหว่างประเทศทั้งสองเมื่อปี 1994 รวมทั้งพวกเขายังมีกิจกรรมการฝึกอบรมทางทหารและการฝึกซ้อมทางนาวีแบบทวิภาคีซึ่งกระทำกันในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากทางปักกิ่ง ยิ่งกว่านั้นเวลานี้ยังกำลังมีการเจรากันในเรื่องที่อินเดียจะจัดส่งขีปนาวุธบราห์มอส ไปให้แก่เวียดนาม เห็นได้อย่างชัดเจนว่าขีปนาวุธที่สามารถยิงใส่เป้าหมายในระยะห่างออกไป 300 กิโลเมตรประเภทนี้ เมื่อตกอยู่ในความครอบครองของเวียดนาม ก็จะถูกมองว่าเป็นอาวุธในการป้องปรามไม่ให้จีนแสดงการก้าวร้าวและรุกล้ำในบริเวณทะเลจีนใต้

เมื่อเร็วๆ นี้ ฮานอยยังได้ให้สิทธิแก่กองทัพเรืออินเดีย ในการเข้าไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทางนาวีที่ท่าเรือเมืองญาจาง (Nha Trang) ซึ่งทำให้กำลังนาวีของแดนภารตะมีจุดวางเท้าในทะเลจีนใต้ และทำให้ฝ่ายจีนเกิดความวิตกเพิ่มมากขึ้น ความหวั่นกลัวของแดนมังกรสะท้อนออกมาให้เห็นในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 เมื่อกองเรือของจีนเข้าเผชิญหน้ากับเรือรบ ไอเอ็นเอส ไอราวัต (INS Airavat) ขณะที่เรือรบอินเดียลำนี้กำลังแล่นออกมาจากเขตชายฝั่งของเวียดนาม

ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่น ก็จะก่อให้เกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในทางด้านความมั่นคงให้แก่จีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศนี้ ซึ่งต่างก็เป็นชาติเพื่อนบ้านของจีนที่ในประวัติศาสตร์ได้เคยมีเรื่องบาดหมางกับแดนมังกรมาทั้งคู่ ย่อมทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ 2 ชาติซึ่งต่างมีฐานะเป็นมหาอำนาจในเอเชีย จะดำเนินการเคลื่อนไหวในลักษณะปากคีบบีบเข้าใส่จีนที่อยู่ตรงกลางจากทั้งสองด้าน แล้วยังทำให้การลากเส้นขีดวงปิดล้อมจีนทั้งทางภาคพื้นดินและทางทะเลสำเร็จสมบูรณ์อีกด้วย

สายสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกำลังขยายตัวเข้าไปในแวดวงความมั่นคง ด้วยการฝึกซ้อมทางนาวีระดับพหุภาคีที่มีชื่อรหัสว่า มาลาบาร์ (MALABAR) ความสัมพันธ์และการลากเส้นปิดล้อมจีนของอินเดียเหล่านี้ ยังได้แรงหนุนเสริมจากการที่นิวเดลีขยายสายสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของญี่ปุ่น และก็เป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของจีน นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา ขณะที่สายสัมพันธ์ระหว่างนิวเดลีกับวอชิงตันในเวลานี้ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มีความหวือหวาน่าตื่นเต้นอะไร ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินเดีย แต่ประเทศทั้งสองก็มีศักยภาพความสามารถสูงที่สุดในการขีดวงปิดล้อมจีน ปัจจุบันทั้งนิวเดลีและวอชิงตันต่างให้ความสำคัญในระดับสูงลิ่วแก่ความสัมพันธ์ระหว่างกันของพวกเขา โดยที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถึงกับประกาศว่า ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดีย “จะเป็น 1 ในความสัมพันธ์ที่เป็นตัวกำหนดศตวรรษที่ 21”

ถึงแม้มีถ้อยคำเจื้อยแจ้วออกมาจากอินเดียไม่ขาดสาย ว่าแดนภารตะไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะปิดล้อมหรือขีดวงจำกัดความเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้านคอมมิวนิสต์ของตนรายนี้เลย ทว่าการกระทำของนิวเดลี ดังที่สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลับส่งเสียงอึกทึกครึมโครมกว่ากันนักเกี่ยวกับความตั้งใจของแดนภารตะ และเปิดเผยให้ทราบว่าอินเดียมีความวิตกกังวลมากมายขนาดไหนเมื่อพบเห็นว่าจีนกำลังก้าวผงาดขึ้นสู่ฐานะความเป็นชาติมหาอำนาจยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียบังเกิดความรู้สึกวิตกกังวลเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องถูกต้องตามเนื้อผ้าแล้วก็ได้ ในเมื่อจีนกำลังดำเนินการต่างๆ มากมายซึ่งสามารถอธิบายแปลความหมายได้อย่างง่ายดายว่า เป็นความพยายามที่จะปิดล้อมอินเดีย และจำกัดควบคุมไม่ให้แดนภารตะก้าวผงาดขึ้นมา โดยต้องการผูกตรึงนิวเดลีเอาไว้ให้อยู่แต่ภายในเขตอนุทวีปอินเดีย ด้วยเหตุนี้ มันจึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะเฝ้าสังเกตสถานการณ์จากมุมมองไหน แต่ละฝ่ายต่างก็สามารถจะถูกตีความว่าเป็นผู้รุกราน หรือพลิกกลับกลายเป็นเพียงผู้ที่กำลังพยายามป้องกันตนเอง

ข้อเขียนชิ้นนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเปิดให้นักเขียนภายนอกตลอดจนผู้อ่านส่งข้อเขียนแสดงความคิดของตนไปให้พิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการระดับเดียวกับพวกที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

แดเนียล ธอร์ป สำเร็จการศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยบรูเนล, สหราชอาณาจักร โดยมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในย่านเอเชีย-แปซิฟิก
‘อินเดีย’วางแผนยุทธศาสตร์ปิดล้อม‘จีน’(ตอนแรก)
อินเดียแถลงเอ่ยเอื้อนเป็นประจำเสมอมาว่า ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะทำการปิดล้อมหรือจำกัดพื้นที่ความเคลื่อนไหวของจีนแต่อย่างใดเลย ทว่าถ้อยคำโวหารเหล่านี้ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับความมุ่งมั่นและการปฏิบัติการเพื่อขยายกำลังทหารและปรับปรุงยกระดับกองทัพให้ทันสมัย ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทางอากาศ, และทางทะเล ของทางการนิวเดลี ตลอดจนการที่แดนภารตะพยายามเพิ่มความร่วมมือกับบรรดารัฐที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเหล่าชาติเพื่อนบ้านของจีนที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอยู่กับแดนมังกร อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปักกิ่งเองก็กำลังมีปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างง่ายดายว่า เป็นความพยายามที่จะสกัดควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของอินเดียเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น